จะดีแค่ไหน ถ้าพื้นที่พักคอยในโรงพยาบาลสามารถรองรับการทำกิจกรรมต่างๆ ของผู้มาใช้บริการได้อย่างหลากหลาย มีฟังก์ชันการใช้งานที่สะดวกสบาย และยังสะท้อนเอกลักษณ์ วัฒนธรรมชุมชนไ้ด้อย่างภาคภูมิใจ
โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา จังหวัดยะลา เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่ได้เข้าร่วมโครงการเฉลิมราชย์ราชา จิตอาสาพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั่วไทย ที่ดำเนินการโดยมูลนิธิ SCG ร่วมกับกลุ่มวิจัยสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเพื่อสุขภาวะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายสถาปนิกอย่างสถาปนิกมุสลิมเพื่อชุมชน พัฒนาพื้นที่พักคอยเพื่อสร้างเป็นพื้นที่แห่งความสุข สำหรับผู้มาใช้บริการในโรงพยาบาล
กลุ่มสถาปนิกมุสลิมเพื่อชุมชน เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มนักศึกษาสถาปัตย์มุสลิม ที่มีเป้าหมายเพื่อต่อยอดองค์ความรู้ วิชาการด้านสถาปัตยกรรมอิสลาม รวมถึงช่วยเหลือสังคมมุสลิม องค์กรทางด้านศาสนาผ่านการออกแบบและก่อสร้างโครงการต่างๆ เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ด้วยความเชื่อมั่นว่าสถาปัตยกรรมจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมที่เข้มแข็ง
ดังนั้นการออกแบบพื้นที่พักคอยในโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหาในครั้งนี้ ทีมสถาปนิกได้ใช้กระบวนการมีส่วนร่วม โดยได้ลงพื้นที่ไปสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งเป็นผู้ที่เข้ามาใช้บริการในโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย รวมถึงทำกิจกรรมการมีส่วนร่วมกับบุคลากร แพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สะท้อนความต้องการของผู้ใช้งานให้ได้มากที่สุด
กระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างกลุ่มสถาปนิกมุสลิมเพื่อชุมชน บุคลากรในโรงพยาบาล และตัวแทนชุมชน
กระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างกลุ่มสถาปนิกมุสลิมเพื่อชุมชน บุคลากรในโรงพยาบาล และตัวแทนชุมชน
กระทั่งได้ความเห็นตรงกันและได้ข้อสรุปออกมาว่า พื้นที่พักคอยที่จะก่อสร้างขึ้นมานี้ควรเป็น ‘โรงอาหาร’ ที่เป็นสัดส่วน สามารถทำกิจกรรมได้หลายอย่าง มากกว่าการนั่งรับประทานอาหารหรือไว้สำหรับรอตรวจ อีกทั้งยังต้องเป็นพื้นที่ที่สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานตามสถานการณ์ได้ พร้อมตอบโจทย์ผู้มาใช้บริการทั้งในมิติเชิงสังคม ศาสนาและวัฒนธรรม นี่จึงนำไปสู่การออกแบบ ‘เรือนอุ่นใจ ศรีญาฮา’
การออกแบบในสังคมพหุวัฒนธรรม ที่มอง ‘ชุมชน’ เป็นหัวใจ
อำเภอยะหา จังหวัดยะลา มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยคนในชุมชนมีความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม แต่ขณะเดียวกันก็ยังสามารถอยู่ร่วมกันได้ และยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์อันแตกต่างกันนี้ หลอมรวมเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมได้อย่างลงตัว
โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา อำเภอยะหา จังหวัดยะลา ท่ามกลางชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม
ความหลากหลายที่ว่านี้ นับว่าเป็นโจทย์ใหญ่ของสถาปนิก เพื่อหาจุดร่วมที่เหมาะสมในการออกแบบ ดังนั้นการมองไปที่ความต้องการของคนในชุมชนจึงเป็นหัวใจสำคัญ
กลุ่มวิจัยฯ ได้พูดคุยกับคุณซัลมาน มูเก็ม ผู้ก่อตั้งกลุ่มสถาปนิกมุสลิมเพื่อชุมชน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ออกแบบหลักของโครงการนี้ โดยคุณซัลมานได้บอกว่าสิ่งสำคัญในกระบวนการมีส่วนร่วมคือการรับฟังและมองเห็นคนในชุมชนอย่างแท้จริง ว่าพวกเขาเป็นอย่างไร อยู่ในบริบทสังคมแบบไหน และต้องการอะไรบ้าง อย่างน้อยควรได้สิ่งที่เป็นพื้นฐาน เมื่อมาเข้ามาใช้บริการในโรงพยาบาลแล้วจะมีพื้นที่ไหนบ้างที่รองรับการใช้ชีวิตหรือทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างอุ่นใจ แน่นอนว่าเราต้องการให้โรงอาหาร ‘เรือนอุ่นใจ ศรีญาฮา’ แห่งนี้เป็นคำตอบนั้น
ดังนั้นในกระบวนการออกแบบ สถาปนิกจึงให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูลและเรียนรู้ความต้องการของคนในชุมชนจริงๆ ผ่านมุมมองของคนธรรมดาที่ไม่ใช่นักออกแบบ เพื่อที่จะได้เปิดมุมมองได้อย่างลึกซึ้งและชัดเจนมากยิ่งขึ้น
คุณซัลมาน มูเก็ม ผู้ก่อตั้งกลุ่มสถาปนิกมุสลิมเพื่อชุมชน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ออกแบบหลักของโครงการ
“เราเป็นกลุ่มสถาปนิกที่ทำงานด้านชุมชนและเป็นพี่น้องชาวมุสลิมเหมือนกัน เราจึงเข้าใจบริบทของชุมชนได้ดี บางคนอาจคิดว่าเราคุ้นเคยกับพื้นที่นี้อยู่แล้ว การทำงานน่าจะง่าย แต่ในความเป็นจริง การมองผ่านสายตาสถาปนิกที่มีความคุ้นเคยกับรายละเอียดทางสังคมและวิถีชีวิตของผู้คนมากจนเกินไป ก็อาจไม่รู้ว่าที่แท้จริงแล้ว พวกเขาต้องการอะไร” คุณซัลมานกล่าว
“อีกทั้งการมองในมุมสถาปนิกมักยึดติดไปกับวิธีการทำงานหรือการออกแบบที่มีความเป็นทางการ บางครั้งยืดหยุ่นได้ยาก ซึ่งอาจไม่เข้ากับบริบทของชุมชนที่มีลักษณะเฉพาะตัว การถอดมุมมองของสถาปนิกออกแล้วมองเข้าไปด้วยสายของคนธรรมดาน่าจะดีที่สุด”
การออกแบบผ่านมุมมองของคนธรรมดา ทำให้ได้พื้นที่ที่มีประสิทธิภาพ ด้วยการสอบถามพูดคุยกับคนในชุมชน ร่วมกับการขอคำแนะนำของผู้นำทางศาสนา นำไปสู่การก่อสร้างเรือนอุ่นใจ ศรีญาฮาในโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา ได้ตรงตามอุดมคติอย่างสมบูรณ์ อย่างการก่อสร้างผนังจะเป็นแบบกึ่งปิดกึ่งเปิด ได้ความเป็นส่วนตัวแต่ยังเชื้อเชิญให้คนเข้ามาใช้งาน วัสดุที่ใช้เป็นของที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น นำปรับใช้อย่างเหมาะสม เน้นบรรยากาศที่เรียบง่าย อบอุ่นเหมือนได้อยู่บ้าน
ภาพบรรยากาศจำลองภายนอก ‘เรือนอุ่นใจ ศรีญาฮา’ ในโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา
ภาพบรรยากาศจำลองภายใน ‘เรือนอุ่นใจ ศรีญาฮา’ ในโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา
ด้านการใช้งาน โรงอาหารแห่งนี้เป็นพื้นที่พักคอยของผู้มาใช้บริการที่มักพากันมาเยี่ยมผู้ป่วยคราวละหลายคน โดยพากันมาเป็นครอบครัวพร้อมเด็กๆ สามารถมานั่งรับประทานอาหารร่วมกันได้ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ แขกและวิทยากรก็สามารถมาใช้งานได้เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้เรือนอุ่นใจ ศรีญาฮา ยังมีพื้นที่ถูกใช้เป็นพื้นที่สำหรับฉีดวัคซีนป้องกัน Covid-19 ในช่วงภาวะวิกฤตที่ผ่านมาอีกด้วย พร้อมทั้งเชื่อมไปยังโซนพื้นที่อื่นๆ ได้อย่างสะดวก ด้วยทางเข้าออกถึง 3 ทางด้วยกัน มีการปรับใช้พื้นที่ได้อย่างยืดหยุ่น นับว่าเป็นประโยชน์อย่างมากเลยทีเดียว
จากกระบวนทัศน์ของคุณซัลมาน ตัวแทนกลุ่มสถาปนิกมุสลิมเพื่อชุมชนได้ทำให้เราเข้าใจบริบทของชุมชนแต่ละแห่งมากขึ้น กระบวนการมีส่วนร่วมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เห็นความต้องการอย่างลึกซึ้ง และกระบวนการนี้ควรนำมาใช้ในการออกแบบอย่างแพร่หลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล โรงเรียน หรือสถานที่อื่นๆ นำไปสู่การต่อยอดการทำงานที่ภาคส่วนต่างๆ น่าจะนำไปปรับใช้
บรรยากาศจริงของ‘เรือนอุ่นใจ ศรีญาฮา’ ในโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา
‘เรือนอุ่นใจ ศรีญาฮา’ ในโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา เป็นตัวอย่างที่พิสูจน์แล้วการมีส่วนร่วมของชุมชนนั้น ทำให้เกิดการสรรค์สร้างเป็นมากกว่าพื้นที่พักคอยหรือโรงอาหารทั่วไป แต่กลับกลายเป็นพื้นที่แห่งความสุขและอุ่นใจของทุกคน ก่อให้เกิดความรู้สึกรักและหวงแหนร่วมกัน พร้อมทั้งเป็นต้นแบบที่สามารถต่อยอดสู่การเป็น ‘พื้นที่เพื่อชุมชน’ แห่งอื่นๆ ได้ในอนาคต
ขอขอบคุณข้อมูลจากผู้ให้สัมภาษณ์ คุณซัลมาน มูเก็ม ผู้ก่อตั้งกลุ่มสถาปนิกมุสลิมเพื่อชุมชน
Cr. ภาพบางส่วนจาก Facebook สถาปนิกมุสลิมเพื่อชุมชน และหนังสือ 21 พื้นที่แห่งความสุข โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั่วไป มูลนิธิ SCG