“พื้นที่ปลอดภัยในโรงพยาบาล” ฐานทัพแห่งความหวังของชุมชน ท่ามกลางวิกฤติโรคระบาด
24 มิถุนายน 2564
เมื่อ Covid-19 ลุกลามเข้าสู่ประเทศไทยมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ที่เปรียบเสมือน “ด่านหน้า” ที่คอยรับมือกับสงครามโรคระบาดนี้ คงหนีไม่พ้น “บุคลากรทางการแพทย์”เพราะต้องดูแลรักษาผู้ติดเชื้อที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และยังต้องปฏิบัติตามมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิด ส่งผลให้การทำงานในโรงพยาบาลนั้นมีความลำบากมากขั้นตอน
 
โรงพยาบาลขึ้นชื่อว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง เพราะต้องเปิดรับผู้ป่วยตลอดเวลา ทางกลุ่มวิจัยสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเพื่อสุขภาวะ ในฐานะผู้ที่ทำงานด้านการออกแบบพื้นที่เพื่อสุขภาวะ ได้เห็นถึงความสำคัญของพื้นที่บริการในโรงพยาบาล ที่เปรียบเสมือน “ฐานทัพ” รับมือกับสถานการณ์วิกฤติที่ถาโถมเข้ามาอยู่เรื่อยๆ
 
นั่นจึงเป็นที่มาของการออกแบบโครงการ “พื้นที่อยู่ดีมีสุข” โดยกลุ่มวิจัยฯ ได้เข้าไปทำงานร่วมกับโรงพยาบาลชุมชนหลายแห่งด้วยกัน เพื่อช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ ผ่านการออกแบบและปรับปรุงพื้นที่บริการส่วนต่างๆ ให้มีความปลอดภัยและเป็นไปตามมาตรฐาน
 
พื้นที่บริการ หัวใจของโรงพยาบาล
 
สำหรับมุมมองของ “ธนานุกิจ จาดชลบท หรือบวบ” สถาปนิกประจำกลุ่มวิจัยฯ ได้พูดถึงที่มาในการออกแบบและปรับปรุงพื้นที่บริการในโรงพยาบาลชุมชนท่ามกลางวิกฤติโรคระบาด



“พื้นที่บริการของโรงพยาบาลเป็นจุดสำคัญมาก เพราะทั้งผู้ป่วย แพทย์ พยาบาล รวมถึงญาติผู้ป่วย จำเป็นต้องใช้งานแทบจะ 24 ชั่วโมง แม้โรงพยาบาลแต่ละแห่งจะมีอาคาร มีห้องตรวจ และพื้นที่ปฏิบัติการต่างๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่าไม่ได้สมบูรณ์ทั้งหมด บางแห่งเปิดให้บริการมานานก็มีทรุดโทรมไปบ้าง หรือแบบไม่สอดคล้องไปกับสถานการณ์ปัจจุบัน ยิ่งช่วง Covid-19 ระบาด ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น ถ้าไม่มีพื้นที่รองรับและคัดกรองผู้ป่วยที่ได้มาตรฐานก็อาจเกิดการติดเชื้อได้”  
 
บวบได้แชร์ปัญหาที่พบของโรงพยาบาลที่ทางทีมวิจัยฯ ได้ทำงานร่วมด้วย โดยเฉพาะกลุ่มโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งมีขนาดไม่ใหญ่มากและอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ในขณะที่กลุ่มผู้ที่มาใช้บริการกลับมีจำนวนมาก ปัญหาที่เกิดขึ้นคือพื้นที่บริการไม่เพียงพอและบางจุดไม่ได้มาตรฐาน พอ Covid-19 ระบาด ทำให้ต้องกลับมาทบทวนกันใหม่ว่าจะออกแบบปรับปรุงพื้นที่บริการอย่างไรให้ถูกสุขภาวะ




พื้นที่ผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลนาวังเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ก่อนปรับปรุง ลักษณะค่อนข้างแออัด เนื่องจากมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก

“ยกตัวอย่างโรงพยาบาลที่เราได้ช่วยปรับปรุงพื้นที่บริการ คือโรงพยาบาลนาวังเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จังหวัดหนองบัวลำภู และโรงพยาบาลเบญจลักษ์เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งแต่ละโรงพยาบาลก็มีปัญหาเฉพาะ มีความต้องการที่แตกต่างกัน กลุ่มวิจัยฯ ได้ลงพื้นที่เพื่อหาคำตอบผ่านกิจกรรมการมีส่วนร่วม ซึ่งผู้ร่วมกิจกรรมก็จะเป็นกลุ่มผู้ใช้พื้นที่โดยตรง ทั้งแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ รวมไปญาติผู้ป่วย ดังนั้นการออกแบบจะไม่ได้มาจากสถาปนิกคิดเอง หรือทำตามแบบก่อสร้างของทางราชการ แต่มันคือ Output จากการระดมความคิดจากกลุ่มคนที่ใช้งานพื้นที่จริง”



บวบได้เล่าต่อถึงกิจกรรมการมีส่วนร่วม ว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญไม่แพ้การออกแบบ เพราะนี่ถือเป็นก้าวแรกของการเก็บข้อมูล เราจะค่อยๆ มองเห็นปัญหาว่ามีอะไรบ้าง และรู้ว่าคนในต้องการอะไร นำไปสู่แนวทางการออกแบบที่ตรงจุด แตกต่างจากขั้นตอนของการก่อสร้างโรงพยาบาลแบบเดิมๆ ที่ต้องยึดโยงไปตามแบบของทางการ ยืดหยุ่นได้ยาก
 
“เปรียบเสมือนโรงพยาบาลซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูปมาใส่ แต่เสื้อผ้าเหล่านั้นยังหลวมเกินไป คับเกินไป เราจึงเข้ามาช่วยตัดเสื้อผ้าให้ใส่ได้พอดีตัวมากขึ้น พูดง่ายๆ กระบวนการมีส่วนร่วมช่วยให้เราหาทางออกให้พอดีกับปัญหาที่โรงพยาบาลเจอ ซึ่งวิธีการนี้น่าจะยั่งยืนมากกว่า และยังสามารถพัฒนาให้เป็นโมเดลต้นแบบในเรื่องกระบวนการทำงานให้กับหน่วยงานอื่นๆ ได้ในอนาคต”




กิจกรรมการมีส่วนร่วมที่ทางทีมวิจัยฯ ได้จัดร่วมกับโรงพยาบาล



ห้องฉุกเฉิน (ER) ด่านแรกที่ต้องปลอดภัย
 
            เพราะห้องฉุกเฉินไม่มีวันปิด เป็นพื้นที่ในโรงพยาบาลที่ต้องเปิดรับผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง ดังนั้นผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการด้วยเหตุฉุกเฉิน อุบัติเหตุ หรือกระทั่งการรักษาโรคอื่นๆ ในภาวะเร่งด่วน อาจเป็นผู้ติดเชื้อ Covid-19  ด้วยก็เป็นไปได้ ดังนั้นโรงพยาบาลต้องมีการคัดกรองที่เข้มงวด เพื่อลดความเสี่ยงไม่ให้ผู้ติดเชื้อ Covid-19 เข้าไปปะปนกับผู้ป่วยรายอื่นๆ รวมไปถึงลดโอกาสการแพร่เชื้อไปสู่แพทย์และพยาบาลที่ทำการรักษาด้วย




ห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลนาวังเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา และโรงพยาบาลเบญจลักษ์เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา   ก่อนปรับปรุง พื้นที่ยังไม่เป็นสัดส่วนและยังไม่เรียบร้อย
 
“เราได้เข้าไปช่วยปรับปรุงพื้นที่ห้องฉุกเฉิน ทั้งในโรงพยาบาลนาวังเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา  และโรงพยาบาลเบญจลักษ์เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ให้เป็นพื้นที่ที่สามารถรรองรับผู้ป่วยทุกกลุ่ม แม้กระทั่งผู้ติดเชื้อ Covid-19 ก็พร้อมรับมือได้ ซึ่งพื้นที่เพิ่มเข้ามาคือห้องแยกโรคหรือ Isolate Room ห้องนี้จะแยกผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยจะมีการสอบประวัติและทำการรักษาอาการเร่งด่วนก่อน จากนั้นจะเฝ้าสังเกตอาการ ส่วนหมอ พยาบาลที่เข้ามา จะใส่ชุด PPE ป้องกัน ช่วยลดปัญหาการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้ป่วยคนอื่นๆ”



ห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลเบญจลักษ์เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ก่อนปรับปรุง พื้นที่ยังไม่ได้สัดส่วน ไม่มีห้องแยกโรค

“จริงๆ แล้ว ห้องแยกโรคมันเป็นฟังก์ชันหนึ่งในโรงพยาบาลที่มีมานานแล้ว แต่ตามโรงพยาบาลชุมชน ในต่างจังหวัดมักไม่ค่อยมี ซึ่งมันไม่สอดรับกับปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เราจึงเข้าไปออกแบบตรงนี้ให้เป็นกิจจะลักษณะ รวมไปถึงในโซนผู้ป่วยนอกหรือ OPD ก็ทำห้องแยกโรคลักษณะนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งจะรองรับผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ และโรคติดต่ออื่นๆ สิ่งสำคัญคือพื้นที่ต้องขยายใหญ่ขึ้น ไม่แออัด มีแสงสว่างเพียงพอ การวางระบบหมุนเวียนอากาศก็คำนึงถึงทิศทางการไหลเวียนของลม”



ห้องแยกโรค สำหรับผู้ป่วยเสี่ยง หลังการปรับปรุงห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลนาวังเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา 
 
นอกจากนี้ ยังมีการปรับระบบการหมุนเวียนอากาศภายในห้อง ER ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยทำให้เป็นรูปแบบ One Way Flow  ออกแบบวางตำแหน่งระบบแอร์ให้มีความเหมาะสม สัมพันธ์ไปกับทิศทางของเตียงผู้ป่วย เน้นความโปร่งโล่งและถูกสุขลักษณะมากขึ้น เนื่องจากเป็นห้องที่ต้องถูกใช้งานตลอดเวลา





บรรยากาศจริงของห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลนาวังเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา หลังปรับปรุง






ภาพจำลองบรรยากาศห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลเบญจลักษ์เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา หลังปรับปรุง

ห้องทันตกรรม ด่านเสี่ยงที่ไม่ควรมองข้าม
 
อีกหนึ่งพื้นที่บริการที่ไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่ง คือห้องทันตกรรม ซึ่งค่อนข้างมีความเสี่ยงสูงเวลาที่ผู้ป่วยมาใช้บริการจากการทำหัตถการต่างๆ อาจนำไปสู่การแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ง่าย ดังนั้นทางกลุ่มวิจัยฯ จึงได้เข้าไปออกแบบห้องทันตกรรมของโรงพยาบาลนาวังเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ที่เป็นส่วนหนึ่งของอาคารใหม่ และรีโนเวทห้องทันตกรรมเดิมของโรงพยาบาลเบญจลักษ์เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ให้ถูกต้องตามหลักสุขภาวะมากยิ่งขึ้น



หน่วยทันตกรรมโรงพยาบาลเบญจลักษ์เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ก่อนการปรับปรุง

“ห้องทันตกรรมที่ใช้งานเดิมของทั้ง 2 โรงพยาบาลจะไม่แยกพื้นที่กันอย่างชัดเจน โดยจะรวมทุกยูนิตไว้ในโซนเดียวกัน เวลาที่ผู้ป่วยติดเชื้อมาใช้บริการก็อาจมีความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อไปสู่เตียงข้างเคียงได้ง่าย ดังนั้นเราจึงได้ออกแบบแยกห้องสำหรับผู้ป่วยเสี่ยงโดยเฉพาะ โดยมีการกั้นห้องอย่างเป็นสัดส่วน เรียกว่าห้องทันตกรรมแยกโรค รองรับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงเวลาเกิดเหตุฉุกเฉินก็เข้ามาใช้ได้เลย”





ภาพจำลองบรรยากาศหน่วยทันตกรรมที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ โรงพยาบาลเบญจลักษ์เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา 
 
สถาปนิกยังกล่าวถึงการวางระบบระบายอากาศภายในห้องทันตกรรมด้วยว่าจะเป็นแบบ One Way Flow เช่นกัน อากาศสามารถไหลเวียนได้สะดวก และสัมพันธ์ไปกับทิศทางของเตียงของผู้ป่วย พร้อมระบบฆ่าเชื้อตามมาตรฐาน ก่อนที่ผู้ป่วยจะเข้ามาใช้บริการต้องมีการคัดกรองก่อนทุกครั้ง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการทำงานแก่เจ้าหน้าที่ รวมไปถึงผู้ป่วยด้วยกันเอง
 
“มีการปรับเปลี่ยนและเพิ่มเติมฟังก์ชันจำเป็นในพื้นที่บริการอื่นๆ ด้วย อย่างบริเวณทางเข้าอาคารใหม่ของกลุ่มโรค NCDs หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ในโรงพยาบาลเบญจลักษ์เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จะมีการติดตั้งอ่างล้างมือให้ผู้ป่วยทำความสะอาดก่อนเข้าไปใช้บริการ และขยายพื้นที่พักคอยแก่ญาติผู้ป่วยให้สามารถมานั่งรอ โดยจะได้สภาพแวดล้อมที่ปลอดโปร่ง ที่นั่งไม่แออัด มีหน้าต่างบานใหญ่ระบายอากาศและรับแสงแดดได้อย่างเหมาะสม ซึ่งรูปแบบเหล่าบนี้สามารถนำไปปรับใช้กับพื้นที่อื่นๆ ในโรงพยาบาลได้ เช่น โซนผู้ป่วยนอก OPD







ภาพจำลองบรรยากาศอาคาร NCDs ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ โรงพยาบาลเบญจลักษ์เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา 
 
การออกแบบที่เรียบง่าย สู่พื้นที่สุขภาวะที่ยั่งยืน
 
จากการออกแบบพื้นที่บริการในโรงพยาบาลนาวังเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา และโรงพยาบาลเบญจลักษ์เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา  จะเห็นได้ว่าสถาปนิกอาศัยหลักการที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน แต่เน้นการใช้งานได้จริงและมีประสิทธิภาพ
 
“เราพิจารณาจากจุดที่มีความเสี่ยงสูง บริเวณที่ติดเชื้อได้ง่าย แล้วใช้หลักการที่ค่อนข้าง Basic เลยในการออกแบบ มีอัพเกรดสเป็กวัสดุบางอย่างขึ้นมาบ้าง แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือความใส่ใจ เราต้องมองเห็นและเข้าใจปัญหาของผู้ใช้งานก่อน จึงจะสามารถออกแบบได้อย่างตรงจุด”
 
บวบ ได้พูดถึงมุมมองในฐานะสถาปนิกที่ได้ทำงานร่วมกับโรงพยาบาลชุมชนมาตลอดหลายปี สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามที่จะผนวกเอาองค์ความรู้ด้านการออกแบบมาช่วยเหลือกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นหน้าด่านที่สำคัญของประเทศ ท่ามกลางวิกฤติเช่นนี้
 


“ตั้งแต่ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับโรงพยาบาลหลายๆ แห่ง เราเห็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้ที่เสียสละมาก แต่กลับได้รับความเสี่ยงสูงมาก ช่วง Covid-19 กลับมาระบาดอีกรอบ บางคนไม่ได้กลับบ้าน ไม่ได้พักผ่อนเลย แต่สิ่งที่ถูกทำเพื่อคนเหล่านี้การแก้ปัญหาแบบพอไปได้ พวกเขาไม่ได้รับความช่วยเหลือเท่าที่ควร ซึ่งมันไม่ควรเป็นแบบนั้น”
 
“ทางฝั่งของนักออกแบบ เรามองว่าหากทำสิ่งแวดล้อมให้ออกมาดีก่อนเป็นพื้นฐาน เน้นใช้งานได้จริง เหมาะกับคนป่วย หมอ พยาบาล มันก็น่าจะช่วยได้เยอะ และในระยะยาวควรจะยั่งยืนด้วย โรงพยาบาลต้องมีพื้นที่ที่ปลอดภัย ไม่ว่าจะมีโรคระบาดหรือไม่ก็ตาม”
 
การเข้ามาของโรคระบาดในครั้งนี้เสมือนเป็นสงคราม ที่สร้างความเสียหายแก่ประเทศอย่างมาก แต่ขณะเดียวกันมันก็ควรเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างมาตรฐานที่ถูกต้องให้แก่โรงพยาบาลทุกๆ แห่งด้วย หากโรงพยาบาลคือฐานทัพของการต่อสู้ในสงครามนี้ พื้นที่สุขภาวะคือสิ่งที่จะเข้ามาอัพเกรดเสริมทัพให้มีความแข็งแกร่ง มั่นคงมากขึ้น บวกกับเครื่องมือยุทโธปกรณ์ต่างๆ ที่ครบครัน ย่อมทำให้บุคลากรการแพทย์ ผู้เป็นด่านหน้าสามารถต่อสู้และเคียงข้างประชาชนได้อย่างเต็มที่ พร้อมรอดพ้นวิกฤตินี้ไปได้ด้วยกัน

#สสส #BEresearchunit #สิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเพื่อสุขภาวะ