โครงการออกแบบและพัฒนาสิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลพระทองคำเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จังหวัดนครราชสีมา
2559-2561
โรงพยาบาลพระทองคำเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา มีต้นทุนที่ดีในด้านความสัมพันธ์กับชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงก่อตั้งโรงพยาบาลที่ได้รับการบริจาคที่ดินและการสนับสนุนจากชุมชน เช่น กลุ่มอาสาสมัครทำอาหารเลี้ยงผู้ป่วยทุกสัปดาห์  ด้วยการจัดการผังพื้นที่อย่างเป็นระบบและพื้นที่ดินที่กว้างขวางทำให้มีพื้นที่โล่งมีศักยภาพรองรับการพัฒนาในอนาคต แต่บริเวณพื้นที่ที่ให้ร่มเงาหรือพื้นที่สีเขียวนั้นจะกระจุกอยู่แค่บริเวณหนึ่ง ประกอบกับสภาวะภัยแล้งในภูมิภาคและดินเค็มถือเป็นข้อจำกัดหนึ่ง จากผลการสำรวจพื้นที่และร่วมหารือผ่านกิจกรรมการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมกับตัวแทนหน่วยงานท้องถิ่น กลุ่มจิตอาสาชุมชน และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลพระทองคำเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ด้วยกิจกรรม my mapping เพื่อการวิเคราะห์พื้นที่พระทองคำและผังการใช้งานโรงพยาบาลร่วมกัน ตลอดจนการเสนอภาพโรงพยาบาลพระทองในฝันของทุกภาคส่วนนั้น นำมาสู่แนวคิดการพัฒนาพื้นที่โรงพยาบาลและอาคารเพื่อสืบสานพระราชปณิธานเรื่องความพอเพียงและความยั่งยืน ที่ผ่านมาโรงพยาบาลมีความพยายามในการจัดการน้ำ ด้วยการริเริ่มโครงการบ่อปลูกต้นไม้ชุ่มน้ำ การบำบัดน้ำเสียด้วยพืช การเลือกพืชพรรณที่เหมาะสมและพยายามฟื้นฟูดินให้สามารถเพาะปลูกได้ เพื่อสร้างพื้นที่ที่ร่มรื่นเพิ่มมากขึ้นในโรงพยาบาล ในกิจกรรมการออกแบบปรับปรุงผังของโรงพยาบาลด้วยการทำหุ่นจำลองร่วมกันจึงมีข้อเสนอให้เน้นการส่งเสริมให้พัฒนาพื้นที่ภายนอกอาคารให้บุคลากร ผู้มาใช้บริการโรงพยาบาลและชุมชนสามารถใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น ทั้งเป็นพื้นที่พักผ่อน ที่พักคอยสำหรับญาติและครอบครัว และพื้นที่ทำกิจกรรมเสริมเพื่อการฟื้นฟูและบำบัดผู้ป่วย เช่น พื้นที่ลานธรรมและสนามเด็กเล่นในพื้นที่ว่างระหว่างอาคารผู้ป่วยในพิเศษ 16 เตียงและอาคารผู้ป่วยในเดิม หรือพื้นที่แปลงเกษตรกรรมบำบัดที่ดำเนินการใหม่ 

จากการหารือร่วมกันในการวางผังแม่บทรวม นำมาสู่การเลือกที่ตั้งอาคารสืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบริเวณพื้นที่ด้านหน้าของโรงพยาบาล ในส่วนที่กำลังพัฒนาเป็นพื้นที่สำหรับพัฒนาแปลงเกษตรพอเพียง โดยมีแนวทางการออกแบบอาคารเป็นพื้นที่เปิดโล่งด้านล่าง และแบ่งสัดส่วนพื้นที่ที่สามารถเดินเท้าเปล่าภายในอาคารได้ ซึ่งแนวคิดหลักต้องการผสมผสานวิถีชีวิตของชุมชนชาวอีสานเดิมและรูปแบบและการใช้งานอาคารแบบร่วมสมัยผ่านตัวอาคารที่เป็นกันเอง ทั้งในเรื่องการใช้วัสดุในท้องถิ่น การใช้งานที่หยืดหยุ่น และเป็นอาคารสะท้อนแนวคิดการพึ่งพาตนเองและประหยัดพลังงาน เน้นการเก็บกับน้ำเพื่อการใช้ประโยชน์ และใช้พืชพรรณที่บริโภคน้ำน้อยในพื้นที่ ทั้งนี้พื้นที่ใช้สอยของอาคารประกอบด้วย ส่วนนิทรรศการ พื้นที่พักรอสำหรับญาติผู้ป่วย ร้านค้าสวัสดิการและโรงอาหารในชั้นล่างที่ออกแบบให้เปิดโล่งและเชื่อมโยงกับพื้นที่แปลงเกษตรบำบัดและลานกีฬาโดยรอบอาคาร เน้นความสัมพันธ์ในทางราบเป็นหลัก และผนวกกิจกรรมต่างๆ ให้เป็นเนื้อเดียวกัน ไม่ปิดกั้นขอบเขตระหว่างภายนอกและภายในอาคาร ส่วนในชั้นสองเป็นพื้นที่ทำงานเอนกประสงค์สำหรับกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขชุมชน โดยรูปแบบอาคารและการวางผังบริเวณจะสะท้อนกลิ่นอายของเรือนพื้นถิ่นทางภาคอีสาน วิถีชีวิตในอิริยาบถต่างๆ เช่น การผูกเปลนอน การปูเสื่อล้อมวงทานข้าว เป็นต้น