โครงการออกแบบและพัฒนาสิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลห้วยกระเจาเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จังหวัดกาญจนบุรี
2559-2561
ศักยภาพด้านพื้นที่ของโรงพยาบาลห้วยกระเจาเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา มีองค์ประกอบของอาคารที่เป็นระเบียบเรียบร้อย และล้อมรอบไปด้วยกลุ่มต้นไม้ที่ให้ร่มเงาจำนวนมาก ซึ่งเป็นกลุ่มกระจายไปโดยรอบบริเวณโรงพยาบาล ทำให้เกิดความหลากหลายในเชิงการพัฒนาผังแม่บท และอาคารแต่ละหลังของโรงพยาบาลห้วยกระเจาเองนั้นได้มีการคำนึงถึงรูปแบบ โทนสีที่ใช้ทาอาคาร และวัสดุประกอบต่างๆ จะเป็นไปในทิศทางสีและวัสดุเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ทำให้ภาพรวมเมื่อมองจากภายนอกไปยังโรงพยาบาลห้วยกระเจานั้น จะมีความกลมกลืนและสบายตาซึ่งเหมาะกับบรรยากาศของการให้บริการรักษา ในกระบวนการออกแบบร่วมกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลและชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุข เพื่อการนำเสนอการปรับปรุงผังแม่บทโรงพยาบาล การพัฒนาพื้นที่ใช้สอยสำหรับอาคารสืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและตำแหน่งที่เหมาะสมร่วมกัน โดยปัจจุบันโรงพยาบาลห้วยกระเจาเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา มีแผนจะสร้างอาคาร PCU บริเวณสนามหญ้าด้านข้างอาคารผู้ป่วยนอก ในกระบวนการทำงานจึงมีการออกแบบวางผังพื้นที่ใช้สอยของอาคาร PCU และผังรวมของโรงพยาบาลร่วมกันด้วยกิจกรรมสร้างหุ่นจำลองการใช้พื้นที่ในอนาคตเพื่อการวิเคราะห์ทางเลือกในการพัฒนา และผู้เข้าร่วมกิจกรรมสะท้อนความต้องการพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับให้บริการคลีนิคเด็กพิเศษที่มีการดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน และข้อเสนอให้มีพื้นที่ออกกำลังกายภายในอาคารโดยเจ้าหน้าที่และชุมชนสามารถเข้ามาใช้บริการได้ รวมถึงร้านค้าสวัสดิการสำหรับญาติผู้ป่วยที่มีพื้นที่ทานข้าว และพื้นที่นิทรรศการที่เป็นส่วนหนึ่งกับตัวอาคาร และห้องประชุมของอาสาสมัครชุมชน โดยเสนอให้มีพื้นที่ภายนอกอาคารเป็นสวนสมุนไพร ลานกิจกรรมเสริมสุขภาพ และแปลงสาธิตเกษตรพอเพียง

แนวคิดการวางอาคารในตำแหน่งที่สามารถมองได้ชัดเจนจากทางเข้าหลักของโรงพยาบาล และเปิดพื้นที่ลานบริเวณด้านหน้าเพื่อให้สามารถมองเห็นตัวอาคารได้อย่างสง่างาม แสดงออกถึงความเป็นอาคารสืบสานพระราชปณิธานอย่างสมพระเกียรติ การนำลักษณะการใช้พื้นที่ของชาวบ้านในชุมชนโดยรอบที่ชอบอาศัยอยู่ใต้ถุนบ้านมาประยุกต์ใช้กับการออกแบบพื้นที่พักคอยและพักผ่อนของผู้ป่วยและญาติ จึงทำให้อาคารมีลักษณะเป็นรูปแบบศาลา มีความเปิดโล่ง สามารถระบายอากาศและรับลมจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ได้เป็นอย่างดี รวมถึงการออกแบบระเบียงวางขนาบด้านข้างเพื่อสร้างพื้นที่เชื่อมต่อจากภายนอกสู่ภายในอาคาร