สภาพแวดล้อมภายในเมืองกับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ
ปัจจัยที่ก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมภายในเมืองที่มีคุณภาพต่อผู้สูงอายุ นอกเหนือการสร้างให้ผู้สูงอายุสามารถ ageing in place ได้อย่างมีคุณภาพแล้ว วิธีการที่ส่งเสริมสภาพแวดล้อมภายนอกในวงกว้าง ก็มีความสำคัญต่อการใช้ชีวิต การเดินทาง  ความเป็นอยู่ หรือการเข้าสังคม ของผู้สูงอายุมากเช่นเดียวกัน โดยได้แบ่งวิธีการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยความสะดวกสบายในด้านต่างๆ ประกอบด้วย Autonomy and independence, Health and well-being, Social connectedness, Security and resilience เป็นแนวทางและปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี

เราอยากจะอยู่บ้านหลังเดิมในขณะที่เราแก่ลง ให้นาน หรือมีความสุขที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้’ การเตรียมพร้อม ที่จะรับมือต่อความเปลี่ยนแปลงทั้งการเสื่อมถอยของร่างกาย ความเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์ ความคิด และความสัมพันธ์ ของผู้สูงอายุ จึงเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึง


AUTONOMY AND INDEPENDENCE
แนวทางสนับสนุนความเป็นอยู่ทางด้านกายภาพภายในเมือง โดยเป็นทางเลือกที่ช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถออกจากบ้านได้ เช่น การเข้าถึงระบบคมนาคม การเชื่อมต่อกันระหว่างสถานีรถประจำทาง รถไฟฟ้า ระบบสาธารณูปโภค ทางเท้า ทางจักรยาน เป็นต้น โดยรวมถึงสัญลักษณ์ หรือป้ายบอกทาง ที่เป็นสิ่งสำคัญในการเดินทางต่างๆ  ซึ่งการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นเมืองเดินได้ เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ผู้สูงอายุสามารถ Ageing in place ได้ดีขึ้น

กรณีตัวอย่าง : AUTONOMY AND INDEPENDENCE
Toyama, Japan : เมือง Toyama พื้นที่ส่วนพักอาศัยของเมืองนี้ กำลังพัฒนาเป็นเมืองที่มีการเชื่อมต่อทางคมนาคมได้อย่างดี ไม่ว่าจะเป็นรถรางที่ครอบคลุมพื้นที่ทุก 500 เมตร  รถประจำทางทุก 300 เมตร โดยมีความตรงต่อเวลาในการรับส่ง ทำให้มีการครอบคลุมการเดินทางได้ทั่วเมือง อีกทั้งยังมีการสนับสนุนเงินช่วยเหลือจากชุมชนสำหรับผู้ที่อาศัยในเมืองนี้
Baltimore, USA : CAPABLE เป็นหน่วยสนับสนุน และช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยและต้องการที่จะ Ageing in place โดยจะส่งทีมสนับสนุน ทั้งพยาบาล นักบำบัด ผู้เชี่ยวชาญในการปรับปรุงบ้าน และผู้ช่วยด้านสุขภาพ จะเข้ามาช่วยเหลือสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการ
Lyon, France : เมือง Lyon ได้ลงทุนสร้างระบบรถรางกว่า 100 ล้านยูโร ที่สามารถเข้าถึงได้เกือบทุกพื้นที่ภายในเมือง โดยเชื่อมต่อสถานีรถประจำทาง และรถกระเช้า ได้มากถึง 70%



HEALTH AND WELL-BEING
พื้นที่สนับสนุนทางด้านการพทย์ การคำนึงถึงสุขภาพกาย และสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ มีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก ซึ่งการสร้างสภาพแวดล้อมเหล่านี้ อาจไม่ต้องการการลงทุนที่สูงก็ได้ เพียงแต่ภายในชุมชนรวมกันสร้างพื้นที่สีเขียว หรือพื้นที่สาธารณะที่รองรับการการทำกิจกรรมแบบกลางแจ้ง ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุได้ทั้งออกกำลังกาย การบำบัดร่างกาย และจิตใจ รวมถึงได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น

กรณีตัวอย่าง : HEALTH AND WELL-BEING
Singapore : Kampung Admiralty Mixed-Use Development เป็นโครงการที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ โดยมีส่วนสนับสนุนด้านสุขภาพ ทางด้านการแพทย์ มีโปรแกรมส่งเสริม Active ageing ส่วน child-care  และส่วนสนับสนุนอื่นๆ เช่น ร้านค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต ธนาคาร เป็นต้น
Australia : Central Park Seniors Exercise Park เป็นพื้นที่ออกกำลังกาย สำหรับผู้สูงอายุ 65 ปี ขึ้นไป โดยออกแบบเครื่องเล่น มาเป็นพิเศษ สำหรับการปรับการเคลื่อนไหว หรือช่วยในการการบำบัดร่างกาย ที่สามารถปรับเปลี่ยนระดับได้ตามความเหมาะสม
Beijing, China : คนจีน ถือว่าเป็นผู้กำเนิดกิจกรรมออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง โดยมีพื้นที่สาธารณะ กลางแจ้งสำหรับให้ผู้คนในชุมชนมาใช้งาน


SOCIAL CONNECTEDNESS
ช่วงวัยในการเข้าสังคมไม่ใช่เพียงแต่ ช่วงวัยหนุ่มสาว เท่านั้น การเข้าร่วมสังคมหรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นหรือภายในครอบครัวของผู้สูงอายุ เป็นช่วงวัยที่ควรคำนึงมากเช่นเดียวกัน ด้วยวัยที่เพิ่มมากขึ้น การทำกิจกรรมต่างๆย่อมน้อยลงตาม การอยู่ตัวคนเดียวจะก่อให้เกิดการสะสมความตึงเครียด การสร้างความสัมพันธ์ในช่วงวัยที่แตกต่างกัน เช่น การได้ทำกิจกรรมกับลูก หลาน หรือในวัยเดียวกัน สามารถทำให้ผู้สูงอายุได้เกิดประสบการณ์ ความรู้สึกต่อตัวเอง ที่ดีขึ้นได้

กรณีตัวอย่าง : SOCIAL CONNECTEDNESS
Adelaide, Australia : U-City - เป็นโครงการที่รวมที่พักอาศัย ร้านค้า ที่พักของผู้สูงอายุ ส่วนดูแลและสนับสนุนสุขภาพ แบบครบวงจร ทำให้เป็นเหมือนพื้นที่ ที่สามารถมีการปฏิสัมพันธ์ร่วมกันกับผู้อื่นได้
London, England : New Ground Older Women’s Co-Housing เป็นโครงการที่รวมที่อยู่อาศัยเป็นเหมือนชุมชนเล็กๆ ที่ถูกออกแบบมา สำหรับผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ซึ่งประกอบด้วยเจ้าของ 26 คน ได้มีการใช้พื้นที่ร่วมกัน ทั้งส่วนของ สวน พื้นที่อเนกประสงค์ พื้นที่ไร่นา ส่วนซักล้าง และพื้นที่ใช้สอยอื่นๆ


SECURITY AND RESILIENCE
การสร้างสภาพแวดล้อมและการออกแบบพื้นที่ควรคำนึงถึงการใช้งานของผู้สูงอายุ ซึ่งควรมีการจัดการที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน และมีความปลอดภัยมากที่สุด เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ใช้งานได้ง่ายและสะดวก ซึ่งนอกจากการเตรียมพื้นที่แล้ว เราควรมีการจัดการดูแลและเตรียมรับกับทุกสถานการณ์ จากความเจ็บป่วย อุบัติเหตุ ยังต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ที่อาจจะเกิดวิกฤตการณ์ในบางครั้งด้วย

กรณีตัวอย่าง : SECURITY AND RESILIENCE
Sydney, Australia : เมืองซิดนีย์ กำลังเพิ่มปริมาณของพื้นที่สีเขียว ภายในเมืองให้มากขึ้นกว่า 50% ในปี 2030 ซึ่งเป้าหมายหลักคือการให้ความรู้และให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการสร้างพื้นที่สีเขียวนี้
New York City, US : หน่วยงานเกี่ยวกับการคมนาคมของเมืองนิวยอร์ก ได้คำนึงถึงผู้สูงอายุในการเดิน โดยทำการก่อตั้งเมื่อปี 2008 เพื่อเอื้ออำนวยความสะดวก ความปลอดภัยและแก้ปัญหา สำหรับการเกิดอุบัติเหตุ จากพื้นที่สาธารณะ เช่น เวลาในการข้ามถนน ทางลาด หรือการระบายน้ำ ออกจากทางเท้า เป็นต้น




เนื้อเรื่องและภาพประกอบโดย ธมณชนก เกตุราทร (fonkaew)
ที่มา
1.A Guide to Aging in Place จาก www.caring.com
2.House for 4 generations จาก www.archdaily.com
3.การจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพผู้สูงอายุ จาก จุลสารสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพออนไลน์
4.ชราในถิ่นที่อยู่อาศัย ทางออกสังคมสูงวัย จาก www.prachachat.net
5.Cities Alive (Designing for ageing communities) จาก รายงานของ ARUP