แนวทางการออกแบบ “สวนผู้สูงอายุ” พื้นที่เพื่อสุขภาวะสำหรับผู้สูงวัย
13 กรกฎาคม 2564



การได้พักผ่อนยืดเส้นยืดสายในสวนทำให้ผู้สูงอายุได้ขยับเคลื่อนไหวร่างกายและสัมผัสธรรมชาติ เป็นการกระตุ้นการรับรู้และการสัมผัส แต่การออกมาเดินในสวนอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้สูงอายุทุกคน เนื่องจากผู้สูงอายุแต่ละคนมีความต้องการเฉพาะตัวและมีข้อจำกัดตามวัย รวมถึงผู้ที่มีอาการหลงลืม เมื่อออกมาอยู่นอกอาคารอาจมีเรื่องที่น่ากังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยและการหนีหายไป ใครที่มีผู้สูงอายุอยู่ที่บ้านหรือใครที่เริ่มสูงวัยแล้วอาจจะมีคำถามว่าสวนที่เอื้อต่อการใช้งานของผู้มากด้วยวัยจะต้องทำอะไรเป็นพิเศษหรือไม่อย่างไรนะ


 
การออกแบบสวนบำบัดเพื่อผู้สูงอายุไม่ได้มีความแตกต่างจากการออกแบบสวนบำบัดทั่วไป แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นพิเศษ คือ ความต้องการของผู้สูงอายุและผู้ดูแล การออกแบบสิ่งแวดล้อมควรเอื้อให้ผู้สูงอายุได้ใช้ชีวิตประจำวันอย่างสะดวกสบายมีความสุข
 
1. ไม่งง ไม่หลงทาง อบอุ่นและเป็นมิตร



การออกแบบให้มีบรรยากาศที่เป็นมิตรและตอบสนองกับความต้องการจะทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าการออกมาทำโน่นทำนี่ในสวนเป็นเวลาที่มีความสุข สบายใจ ดังนั้นผังของสวนต้องเข้าใจง่ายไม่ซับซ้อน มีองค์ประกอบ เพื่อช่วยในการจดจำตำแหน่งและเส้นทางโดยเฉพาะบริเวณทางแยก สร้างบรรยากาศให้ดูเป็นมิตร โดยเลือกรูปแบบของสวนและของตกแต่งตามรสนิยมของผู้สูงอายุ ควรจัดพื้นที่สวนเพื่อรองรับกิจกรรมที่หลากหลาย และควรเตรียมพื้นที่ให้ผู้สูงอายุได้ทำสวนด้วยตนเอง ใช้ไม้ดอกตรงโน้นตรงนี้บ้างเพื่อสร้างความสนใจและเพิ่มสีสันให้สดใสมีชีวิตชีวา หลีกเลี่ยงการปลูกพืชพรรณที่มีพิษและมีอันตรายโดยเฉพาะบริเวณใกล้ทางเดินและบริเวณที่นั่งพักผ่อน
 
2. นั่งสบาย ลุกง่าย ปลอดภัย



การมีที่นั่งสบายๆ กระจายหลายๆ จุดเอื้อให้ผู้สูงอายุออกมาใช้สวนง่ายขึ้นและใช้เวลาในสวนได้นานขึ้น จัดให้มีที่นั่งพักเป็นระยะ หากผู้ใช้งานเป็นผู้สูงอายุที่ไม่แข็งแรงนักควรจัดให้มีที่นั่งพักทุกๆ ระยะ 4.5-6.0 เมตร อาจจัดให้มีที่นั่งหลากหลายแบบ เช่น ที่นั่งพักสำหรับคนเดียว ที่นั่งพร้อมโต๊ะ ที่นั่งสำหรับการสนทนาเป็นคู่หรือกลุ่มเล็กๆ ตัวที่นั่งควรมีความสูงที่นั่งสูงกว่าปกติเล็กน้อย คือประมาณ 45.0-47.5 เซนติเมตร เพื่อให้สะดวกในการลุกนั่ง ความกว้างที่นั่งไม่เกิน 50 เซนติเมตร และควรมีที่เท้าแขนด้านข้างไว้ให้จับพยุงตัวตอนลุก-นั่ง
 
3. เห็นง่าย เดินง่าย ไม่หลอกตา ไม่หกล้ม



ผู้สูงอายุมักมีปัญหาเรื่องการมองเห็น การออกแบบสวนต้องระวังการรับรู้ที่ผิดพลาดโดยเฉพาะเรื่องการกะระยะ โดยต้องคำนึงถึงสีและพื้นผิวของวัสดุพื้น ห้ามใช้วัสดุพื้นสีตัดกันถ้าไม่ได้เปลี่ยนระดับเพราะจะทำให้เข้าใจผิด เนื่องจากผู้สูงอายุอาจเข้าใจว่าพื้นมีระดับต่างกันแล้วกะน้ำหนักการก้าวผิดพลาดทำให้หกล้มได้ แต่สำหรับเก้าอี้ควรให้สีของม้านั่งตัดกับสีพื้นชัดๆ เพื่อช่วยให้กะระยะได้ง่ายขึ้น เช่น พื้นสว่างเก้าอี้สีเข้มหรือสลับกัน ในสวนที่มีผู้สูงอายุใช้งานควรมีการติดตั้งราวจับตามแนวทางเดินโดยเฉพาะบริเวณที่มีการเปลี่ยนระดับ
 
3. การกระตุ้นประสาทสัมผัส



สวนเป็นพื้นที่ที่เอื้อให้เกิดการกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้งห้าได้อย่างดี การที่ประสาทสัมผัสระบบต่างๆได้รับการกระตุ้นจะช่วยให้ระบบการทำงานของสมองและประสาทเสื่อมถอยช้าลงและอาจช่วยฟื้นฟูระบบบางส่วนให้ดีขึ้นได้ การออกแบบสวนที่เอื้อให้ผู้สูงอายุได้สัมผัสวัสดุพื้นผิวและพืชพรรณที่หลากหลาย พร้อมกับการได้เห็นสีสัน รูปทรง แสงแดดและร่มเงา เป็นวิธีที่ช่วยกระตุ้นสัมผัสทางผิวและการมองเห็น นอกจากนี้การปลูกพืชพรรณที่พลิ้วไหวเวลาต้องลมหรือการจัดให้มีน้ำไหลเบาๆก็ช่วยให้เกิดเสียงที่น่าฟังได้ การปลูกพืชพรรณที่มีกลิ่นหอมและพืชผักผลไม้ รวมทั้งสมุนไพร ให้ดมและชิมได้ก็เป็นการเพิ่มศักยภาพของสวนให้ช่วยกระตุ้นประสาทได้ครบถ้วนทุกระบบ
 
สูงอายุกับโรคหลงลืม

การออกแบบสวนต้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัย ไม่ให้มีมุมลับสายตา มีรั้วรอบขอบชิดเพื่อป้องกันการเดินไร้จุดหมายออกนอกพื้นที่ รั้วหรือกำแพงควรมีความสูงเกิน 2.40 เมตร การปลูกต้นไม้บังรั้วทำให้ผู้สูงอายุเข้าถึงรั้วยากขึ้นและพรางรั้วเพื่อลดความรู้สึกว่าถูกกักบริเวณลง การจัดวางสิ่งเล็กสิ่งน้อย เช่น น้ำพุ รูปปั้น ต้นไม้รูปทรงแปลกตาตามทางเดินสามารถช่วยให้จดจำเส้นทางได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้การวางทางเดินภายในสวนเป็นวงปิดหรือรูปเลขแปดทำให้ผู้สูงอายุเดินวนกลับมาที่เดิมไม่สับสน ลดโอกาสการหลงทางลงได้ และควรออกแบบให้ทางเดินราบเรียบ ไม่เปลี่ยนระดับ  เราสามารถใช้สวนเป็นตัวกระตุ้นความทรงจำได้อีกด้วย โดยการออกแบบให้มีองค์ประกอบย้อนยุค เช่น สิ่งของเครื่องใช้ ของตกแต่งสวน รวมทั้งศาลาอาคารที่มีลักษณะในยุคที่ผู้สูงอายุอยู่ในวัยหนุ่มสาว