มองโลก (โรค) ระยะยาว ด้วยสุขภาพเชิงรุกที่ยั่งยืน : ถอดแนวคิด รพ.สนาม ธรรมศาสตร์ กับการจัดการวิกฤติ Covid-19 มองโลก (โรค) ระยะยาว ด้วยสุขภาพเชิงรุกที่ยั่งยืน : ถอดแนวคิด รพ.สนาม ธรรมศาสตร์ กับการจัดการวิกฤติ Covid-19
2 สิงหาคม 2564
สิ่งที่เห็นและได้ยินจนชิน ณ ช่วงเวลานี้ คงหนีไม่พ้นสถานการณ์การแพร่ระบาด Covid-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยอดผู้ป่วยล่าสุดมีแตะหลักหมื่นต่อวัน เกิดวิกฤติเตียงล้นใน รพ. จนไม่สามารถรองรับผู้ป่วยติดเชื้อที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ นาที


อาคาร D-LUXX ธรรมศาสตร์ ปัจจุบันได้ปรับใช้เป็นพื้นที่ของ รพ.สนาม ธรรมศาสตร์
ที่มาภาพ : Facebook โรงพยาบาลสนาม ธรรมศาสตร์

แน่นอนว่า “รพ.สนาม” ได้กลายเป็นอีกทางออกในการช่วยเหลือผู้ป่วย Covid-19 ในกลุ่มอาการไม่รุนแรง และยังช่วยแบ่งเบาภาระการทำงานของแพทย์ พยาบาลใน รพ.หลักได้ดีเลยทีเดียว อย่าง “รพ.สนาม ธรรมศาสตร์” คือ รพ.สนามแห่งแรกในประเทศไทย ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับรพ. ธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ เปิดให้บริการตั้งแต่ช่วง Covid-19 ระบาดระลอกแรก ในเดือนมีนาคม 2563
 
นับว่าเป็นโมเดลหนึ่งในการบริหารจัดการระบบสุขภาพท่ามกลางวิกฤติโรคระบาด ที่ได้ผลดีเลยทีเดียว รพ.สนาม ธรรมศาสตร์ ถูกนำไปใช้เป็นต้นแบบในการทำ รพ.สนาม และ Hospitel ที่อื่นๆ อย่างแพร่หลาย โดยมีแนวคิดจากการปรับใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ พร้อมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินได้ทันที ที่น่าสนใจคือที่นี่เกิดขึ้นภายในรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งนับว่าเป็นสถานศึกษาแห่งแรกที่มีการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย Covid-19 อย่างเต็มรูปแบบ
 
การแพร่ระบาดในระลอกที่ 3-4 ในปีนี้ รพ.สนาม ธรรมศาสตร์ ยังคงเปิดรับผู้ป่วย Covid-19 อย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลา 1 ปีกว่าๆ ที่ผ่านมา รพ.สนามแห่งนี้ได้พัฒนาระบบการบริหารจัดการอย่างไร และมีแผนรับมือกับวิกฤตินี้ต่อไปในระยะยาวอย่างไรบ้าง


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้จัดการศูนย์ฉีดวัคซีน และ รพ.สนามธรรมศาสตร์



กลุ่มวิจัยสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเพื่อสุขภาวะ รับผิดชอบดำเนินงานโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สรนาถ สินอุไรพันธ์ และคณาจารย์ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยังดำรงตำแหน่งเป็น ผู้จัดการศูนย์ฉีดวัคซีน และ รพ.สนามธรรมศาสตร์ ด้วย โดยอาจารย์ได้ให้สัมภาษณ์แนวคิดที่น่าสนใจหลายๆ อย่างเกี่ยวกับการบริหารจัดการ รพ. สนาม เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชน และทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในช่วงเวลาที่ผ่านมา

จุดเริ่มต้นของ รพ. สนาม ธรรมศาสตร์
 
“เริ่มต้นจากประเด็นที่ว่า หากผู้ป่วยติดเชื้อเข้า รพ.ทุกเคส ก็จะเต็มเร็วมาก ไม่ว่าจะป่วยหนักหรือเบาก็ตาม ทุกคนต้องอยู่รักษาและดูอาการต่อถึง 2 สัปดาห์ ดังนั้นธรรมศาสตร์จึงคิดโมเดลนี้ขึ้นมา คือเอาคนที่อาการดีขึ้นแล้วไปอยู่ รพ. สนาม ทำให้ รพ. หลักสามารถรองรับผู้ป่วยที่มีอาการหนักเข้ามาได้เรื่อยๆ จึงกลายเป็นโมเดลของประเทศไทย
 
ที่นี่ก่อตั้งมาตั้งแต่การระบาดในระลอกแรก และเราก็คาดการณ์ไว้ว่าระลอก 2 น่าจะมาแน่ เลยพร้อม Standby และมันก็มาจริงๆ  ซึ่งระลอก 2 นี้ เรามองโลกในแง่ดีมากว่ามันจะไม่เกิดขึ้นอีก พอสถานการณ์ดีขึ้นเราจึงตั้งใจปิดถาวร คือรื้อทั้งหมด แต่ภายในระยะเวลาไม่ถึงเดือน ระลอก 3 มันก็เกิดขึ้นอีก เลยต้องเปิดใหม่อีกครั้ง และต่อเนื่องมาจนระลอก 4 นี้ ก็ไม่มีหยุดเลย”
 
รพ.สนาม ธรรมศาสตร์ เกิดจากการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์
 
“เราใช้ทรัพยากรที่เรามีอยู่แล้ว โดยปรับอาคารหอพักในมหาวิทยาลัย นำมาทำเป็น รพ.สนาม หรือ ลักษณะเป็น Hospitel อาคารที่ว่านี้ก่อสร้างมาตั้งแต่ช่วงเอเชียนเกมส์ ปี 2542 เป็นอาคารสูง 14 ชั้น เรียกว่าอาคาร D-LUXX  ปกติจะใช้เป็นโรงแรมรายวันและหอพักของบุคลากรในมหาวิทยาลัย
 
อาคาร 14 ชั้นนี้ ตำแหน่งชั้นที่ 8 ขึ้นไปจะเป็นส่วนของโรงแรม ส่วนชั้น 7 ลงมาจะเป็นห้องพักบุคลากร ด้วยลักษณะอาคารถูกใช้งานอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว จึงมีความพร้อมทันที เราได้ขอให้บุคลากรย้ายออกโดยทางมหาวิทยาลัยดำเนินการจัดหาที่พักให้เค้าอยู่แทน เพราะไม่สามารถให้อยู่ร่วมกับผู้ป่วยได้
 
สำหรับ Concept ของอาคารนี้ ต้องการทำเป็นห้องรองรับคนที่เป็นเคสสีเขียวออกมาจาก รพ.หลัก เพื่อมาพักรักษาตัวต่อ แต่ช่วงหลังๆ มานี้ เกิดระบาดหนัก ที่นี่ก็เริ่มรับเคสสีเหลือง โดยจะแยกผู้ป่วยอยู่ห้องใครห้องมัน ค่อนข้างเป็นสัดส่วนและเป็นส่วนตัว เราใส่อุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นเข้าไปในห้อง พร้อมทั้งมีแพทย์ พยาบาลคอยติดตามอาการในแต่ละวัน”
 
รพ.สนาม ธรรมศาสตร์ สามารถรองรับได้กี่เตียง และมีการปรับพื้นที่ภายในห้องพักส่วนใดบ้าง ให้เหมาะกับผู้ป่วยติดเชื้อ Covid-19
 
“อาคารนี้ มีทั้งหมด 14 ชั้น ชั้นหนึ่งมี 22 ห้อง ยกเว้นชั้นล่างชั้นเดียวที่จะใช้สำหรับเจ้าหน้าที่ ไว้ปฏิบัติการต่างๆ เช่น ห้องทำงาน ห้องเก็บอุปกรณ์ และห้องพักพยาบาล ส่วนชั้น 2 ขึ้นไปจนถึงชั้น 14 จะเป็นโรงพยาบาลสนาม


บรรยากาศในห้องพักของ รพ.สนามธรรมศาสตร์ ซึ่งมีความพร้อมอยู่แล้ว
ที่มาภาพ : Facebook โรงพยาบาลสนาม ธรรมศาสตร์


บรรยากาศห้องน้ำในแต่ละห้องนอน ใช้งานได้อย่างเป็นส่วนตัว
ที่มาภาพ : Facebook โรงพยาบาลสนาม ธรรมศาสตร์

โดยในแต่ละห้องจะมีเตียง ไม่จำเป็นต้องเพิ่มเฟอร์นิเจอร์อะไรมาก ส่วนพื้นห้องจะเป็นพื้นกระเบื้อง ไม่ใช่พื้นพรม ลดความเสี่ยงเรื่องการกักเก็บฝุ่นหรือเชื้อโรคได้ดี ทำความสะอาดได้ง่าย ส่วนเรื่องระบบแอร์ของที่นี่ก็ไม่น่าห่วงอะไร เพราะแต่ละห้องจะติดแอร์แยกกัน ไม่ใช้แอร์รวม จะมีก็แค่เรื่องพัดลมดูดอากาศในห้องน้ำ ที่จะดึงอากาศออกไปนอกห้อง ทำให้มีความเสี่ยงที่เชื้อโรคจะแพร่กระจายได้ เราก็ถอดฟังก์ชันนี้ออก โดยรวมคือปรับพื้นที่ในห้องไม่มากนัก เพราะใช้งานได้ดีอยู่แล้ว


เสริมเตียงกระดาษเพิ่มสำหรับห้องที่เป็นเตียงเดี่ยว รพ.สนาม ธรรมศาสตร์

ส่วนระบบมอนิเตอร์และการติดอุปกรณ์ไอที เรามีติดที่ตั้งที่ชั้นพักอาศัยและชั้นล่างเพื่อให้แพทย์ พยาบาลคอยมอนิเตอร์ผู้ป่วยได้ พร้อมทั้งปรับพื้นที่สำหรับวางอุปกรณ์ต่างๆ ทำให้ Lobby กลายเป็นห้องทำงานขนาดใหญ่ ใส่คอมพิวเตอร์ใส่จอใหญ่เข้าไปได้และทำงานได้สะดวกขึ้น”



บรรยากาศการทำงานของแพทย์ พยาบาล ใน รพ.สนามธรรมศาสตร์ บริเวณ Lobby ของอาคาร ซึ่งถูกปรับพื้นที่เพื่อใช้ติดต่อ ประสานงาน และมอนิเตอร์ผู้ป่วยในแต่ละจุด
ที่มาภาพ : Facebook โรงพยาบาลสนาม ธรรมศาสตร์
 
สุขอนามัยและความปลอดภัย คือหัวใจสำคัญ
 
“Work Flow สำคัญมาก อันดับแรกคือต้องแยกโซนผู้ป่วยกับโซนผู้ปฏิบัติงานออกจากกัน กำหนดเขตพื้นที่ที่ชัดเจน เช่น ถ้าหากใส่ชุด PPE เสร็จแล้ว ต้องถอดชุดตรงไหน เปลี่ยนชุดตรงไหน หรือการใช้งานลิฟต์ ต้องแบ่งโซนลิฟต์สำหรับผู้ป่วยและลิฟต์สำหรับหมอ พยาบาล ห้ามใช้ปะปนกัน
 

ภายในอาคารมีการแบ่งโซนผู้ปฏิบัติงานที่ชัดเจน และกำหนดเส้นทางการทำงานอย่างเป็นระบบ
ที่มาภาพ : Facebook โรงพยาบาลสนาม ธรรมศาสตร์

เรื่องการส่งอาหารและยา พยาบาลจะส่งให้วันละ 3 รอบ โดยจะไล่เรียงไปในแต่ละห้องตามเวลาที่กำหนด ส่วนการเก็บขยะจะเป็นหน้าที่ของแม่บ้าน เราจะเก็บขยะทุกชิ้นจากห้องผู้ป่วย นับว่าเป็นขยะติดเชื้อทั้งหมด ซึ่งแม่บ้านจะเก็บวันละสองรอบ โดยจะไม่เข้าไปในห้องแต่จะให้ผู้ป่วยนำขยะออกมาวางไว้ให้ที่หน้าห้องแทน และแม่บ้านก็จะใส่ชุด PPE เข้าไปเก็บกวาด
 


ผู้ปฏิบัติงานทั้งแพทย์ พยาบาล รวมถึงแม่บ้านและช่าง ต้องใส่ชุด PPE เข้าไปในพื้นที่พักอาศัย
ของผู้ป่วยเสมอ โดยใช้มาตรฐานเดียวกัน เน้นความปลอดภัย ป้องกันการติดเชื้อ
ที่มาภาพ : Facebook โรงพยาบาลสนาม ธรรมศาสตร์

เมื่อผู้ป่วยหายดีและกลับบ้านได้แล้ว เราก็จะเตรียมห้องเพื่อรับผู้ป่วยคนใหม่เข้ามา แม่บ้านก็ต้องใส่ชุด PPE เข้าไปทำห้องใหม่ ปูผ้าใหม่ อุปกรณ์ที่ใช้แล้วก็ต้องเอามาทำความสะอาดเหมือนอยู่ในโรงแรม ถ้าอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าพัง ระบบมีปัญหา ช่างก็จะเข้าไปซ่อมให้ แต่ต้องเข้าไปพ่นยาเพื่อฆ่าเชื้อก่อน และต้องใส่ชุด PPE ตลอดเวลา
 
กระบวนการทำงานทุกอย่าง ของแพทย์ พยาบาล แม่บ้านหรือช่าง ใช้มาตรฐานเดียวกัน เราให้ความสำคัญกับความปลอดภัย ไม่ต้องกังวลเรื่องการติดเชื้อเลย เพราะตั้งแต่ รพ.สนามก่อตั้งมา ยังไม่พบว่ามีเจ้าหน้าที่คนไหน ติดเชื้อ Covid-19 จากการปฏิบัติงานที่นี่เลย”
 
การจัดการระบบสิ่งแวดล้อมของ รพ. สนาม มธ. เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะที่นี่ตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนและอยู่ในเขตมหาวิทยาลัย
 
“หลังจากปฏิบัติงาน เราก็ค้นพบว่าขยะจากชุด PPE ที่ใช้แล้วทิ้ง มีเยอะมาก เราจึงเปลี่ยนมาใช้ชุด PPE แบบซักได้ ดังนั้นแม่บ้าน ช่าง หรือพยาบาลจะใช้ชุด PPE แบบ Reuse นอกจากนี้เรายังพยายามลดปริมาณขยะติดเชื้อ โดยเราจะแยกขยะที่เป็นเศษอาหารออกมาก่อน เพราะยิ่งคนมากปริมาณขยะก็ยิ่งเยอะ ซึ่งขยะที่มาจากผู้ป่วยเราจะเผากำจัดทิ้งทั้งหมด
 

ชุด PPE แบบ Reuse ซึ่งใช้ใน รพ. สนาม ธรรมศาสตร์ ใส่แล้วสามารถซัก และนำกลับมาใช้ซ้ำได้
 
พอมาถึงในโซนของบุคลากร เราจะแบ่งส่วนที่เป็นเศษออกอาหารออกมา เพื่อนำไปทำปุ๋ยและลดปริมาณขยะ ส่วนในการใช้ช้อนส้อมของผู้ป่วยจากเดิมใช้ช้อนส้อมพลาสติกแล้วมันสิ้นเปลืองทรัพยากรมาก เราจึงเปลี่ยนเป็นเตรียมช้อนส้อมสแตนเลส สำหรับให้ผู้ป่วยคนนั้นใช้ส่วนตัวโดยเฉพาะ เวลาเรานำส่งอาหารจะไม่มีช้อนส้อมพลาสติกให้
 
สิ่งเหล่านี้เป็นการคิดเผื่อเรื่องของสิ่งแวดล้อมไปในตัว เช่นเดียวกับในทางสถาปัตย์ หากจะออกแบบอะไรก็ต้องคิดถึงความยั่งยืนและการบริหารจัดการระบบไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้เป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ซึ่งมันก็เป็นแนวทางของธรรมศาสตร์อยู่แล้ว รพ. สนาม ธรรมศาสตร์ ต้องลดปริมาณขยะให้ได้มากที่สุดด้วย
 
เมื่อคนไข้เคสสีเหลืองในระลอกที่ 3-4 เริ่มเข้าสู่ รพ.สนาม หากเตียงเต็มจะรับมืออย่างไร
 
“ต้องใช้คำว่าการบริหารจัดการ เนื่องจากทรัพยากรเรามีอย่างจำกัด จะบริหารจัดการอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพที่สุด ยิ่งคนติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าช่วงหลังนี้ มันหนักกว่ารอบแรก ยกตัวอย่างบางเคสมาอยู่รพ.สนาม อาการยังเบา แต่อยู่ไปอยู่มาแล้วหนักก็ต้องย้ายไปโรงพยาบาลหลัก


บรรยากาศการทำงานของแพทย์และพยาบาล ที่อยู่ประจำ รพ.สนาม ธรรมศาสตร์
ที่มาภาพ : Facebook โรงพยาบาลสนาม ธรรมศาสตร์
 
ต้องเข้าใจด้วยว่าระบบ ICU ถ้าเต็มขึ้นมา จะมีห้องพักคอยไว้รองรับเคสฉุกเฉิน หากมีเหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้นจริงๆ ก็ต้องใช้ส่วนฉุกเฉินนี้ไปก่อน โดยจะมีหมอคอยดูมอนิเตอร์และให้ยา ซึ่งห้องสำหรับเคสฉุกเฉิน ห้องพักรอก็ต้องทำให้เป็นห้องความดันลบ หมอและพยาบาลที่เข้าไปดูแลก็ต้องใส่ชุด PPE ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างวิธีบริหารจัดการของระบบเรา
 
เรื่องซีเรียสจริงๆ ก็คือเรื่องเตียงไม่พอ ซึ่งมันเป็นเรื่องธรรมดาที่จะเกิดขึ้นอยู่แล้ว ยังไงก็ต้องแก้ไขกันไป ถ้าเรายิ่งเตรียมรับกับเคสที่นึกไม่ถึง ครั้งหน้าก็จะรับมือได้เร็วยิ่งขึ้น ปัจจัยเรื่องคนนี่แหละที่เป็นตัวการสำคัญในการแก้ปัญหา
 

มีจุดรอรับส่งผู้ป่วยอย่างเป็นกิจจะลักษณะ พร้อมทั้งมีรถฉุกเฉิน Standby คอยประสานงาน
กับ รพ. ในเวลาเร่งด่วน หรือในเคสที่ต้องส่งต่อ

ที่มาภาพ : Facebook โรงพยาบาลสนาม ธรรมศาสตร์
 
หลักในการบริหารจัดการของเราคือยึดเป้าหมายเป็นที่ตั้ง ส่วนวิธีการอะไรก็ได้ที่จะบรรลุเป้าหมาย แต่ต้องเป็นวิธีการที่ถูกต้องด้วย คือเราจะยึดติดวิธีการที่น้อยและเน้นเป้าหมายที่มาก เราจึงสามารถบริหารจัดการได้ทั้งโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลสนามและศูนย์ฉีดวัคซีน ทำทั้ง 3 อย่างนี้ได้พร้อมๆ กัน”
 
หากสถานการณ์ดีขึ้นในระยะยาว แต่มันก็ยังแฝงไปด้วยความไม่แน่นอน ดังนั้นโรงพยาบาลสนามในลักษณะนี้ มันควรจะมีต่อไปหรือไม่
 
อย่างที่บอกว่าเราปิดเปิด รพ.สนามมาหลายครั้งแล้ว เราปิดครั้งที่ 1 แล้วกลับมาเปิดครั้งที่ 2 และ 3 เวลาร้อยกว่าวัน ต่อมาจนถึงรอบที่ 4 ไม่มีช่องว่างปิดเลย ถ้าหลังจากนี้สถานการณ์การติดเชื้อกลับมาสู่ภาวะปกติได้อีกครั้งนึง นานที่สุดคือราวๆ 1 ปี แต่นั่นคือสมการที่ไม่ได้นำวัคซีนใส่ลงไป ซึ่งสมการที่มีวัคซีนเข้าไป มันจะเป็นตัวแปรที่ทำให้ตัวกราฟมันลงเร็วกว่านั้น
 
ถ้าถามว่ามันลงไปแล้วรอบนี้ มันมีโอกาสจะขึ้นมาใหม่ไหม คำตอบแน่นอนว่ามี และ รพ.สนามก็ต้อง
Standby จะประมาทไม่ได้ สิ่งสำคัญคือเราต้องปรับตัวรับมือกับเชื้อ Covid-19 เพราะมันอาจมีการกลายเป็นสายพันธุ์ใหม่หรือดื้อยาขึ้นมา ดังนั้น รพ.สนาม ต้องเตรียมพร้อมจนกว่าเราจะเกิด Herd Immunity หรือภูมิคุ้มกันหมู่
 
มองปัญหาในวันนี้ สู่แนวทางการแก้ไขในระยะยาว
 
“ในภาวะปกติ จำนวนโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ อาจรองรับผู้ป่วยได้ไหว แต่ในกรณีการแพร่ระบาดของ Covid-19 ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ จึงไม่สามารถใช้ระบบปกติได้ จำนวนคนป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทรัพยากรต่างๆ ไม่เพียงพอ กลายเป็นว่าเราเอาอาคาร โรงแรม กระทั่งหอพักมาทำเตียง ส่วนหมอก็ต้องดูแลคนป่วยหลายคน รวมถึงการทำ Home Isolation หรือ Telemedicine ด้วย


ที่มาภาพ : Getty Image
 
เราพยายามแก้ไขตามปัญหาที่เผชิญ ซึ่งในอนาคตก็ไม่รู้หรอกว่าจะเจอกับโรคอุบัติใหม่อีกหรือไม่ ดังนั้นในระยะยาวผมคิดว่า เราควรคิดถึงการแพทย์ในเชิงป้องกันให้มากขึ้น ส่งเสริมให้คนไทยมีความรู้เรื่องสุขภาพมากขึ้น โรคระบาดจะทำร้ายเราน้อยลงเพราะร่างกายเราแข็งแรง เพราะอย่างที่รู้ตอนนี้  Covid-19 จะส่งผลกับคนอ่อนแอ หรือกลุ่มเสี่ยงจากโรคเรื้อรังหรือ NCDs ต่างๆ ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา”
 
การดูแลสุขภาพเชิงรุก คือคำตอบ....
 
“Covid-19 ทำให้คนไทยตระหนักและตื่นตัวเกี่ยวกับสุขภาพมากขึ้น เราก็ถือโอกาสนี้มาสร้างสุขภาพเชิงรุกกันเลยดีกว่า ถ้าเราเข้มแข็งและแข็งแรงมากพอ มีความรู้ในการดูแลตัวเองมากขึ้น ในอนาคตหากมีโรคร้ายอะไรมาอีก ก็จะเอาอยู่แน่นอน เพราะปัจจุบันคนยังไม่ค่อยรู้เรื่องการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลสุขภาพเชิงรุก คือทำอย่างไรจะไม่ป่วย ไม่เป็นเบาหวาน ไม่เป็นโรคหัวใจ ไม่ต้องฟอกไต คนไทยยังรู้กันน้อยจริงๆ
 
ทางออกของผมไม่ใช่เป็นการหาเตียงเพิ่ม แต่ตัวเราเองนี่แหละควรเรียนรู้ที่จะเป็นหมอด้วยตัวเองให้มากขึ้น ความรู้ทางการแพทย์ต้องส่งเสริมให้ประชาชนมากกว่านี้ พูดง่ายๆ การพึ่งตัวเองเรื่องการดูแลสุขภาพเชิงรุกเป็นสิ่งจำเป็น นี่คือ Solution ระยะยาวที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย
 
ส่วนเรื่องของสถานที่คือต้องมีอยู่แล้ว เมื่อถึงจุดที่มันมีโรคใหม่ๆ เข้ามาอีก เตียงหลักในโรงพยาบาลไม่เพียงพอ มันก็ต้องเปิดรพ.สนามเพิ่มขึ้น อีกวีธีคืออยู่บ้านให้หมอรักษา หรือ Telemedicine แต่วิธีที่ยั่งยืนที่สุดก็คือ ประชาชนแต่ละคนต้องมีสุขภาพแข็งแรงและมีความรู้ในการดูแลตัวเอง”



ทั้งหมดนี้คือมุมมองของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ในฐานะผู้จัดการศูนย์ฉีดวัคซีน และ รพ.สนามธรรมศาสตร์ ได้ชี้ให้เรามองเห็นประเด็นที่น่าสนใจหลายๆ อย่าง ทั้งเรื่องของการบริหารจัดการอาคาร โดยการนำเอาทรัพยากรที่มีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้ถูกสุขภาวะ มีความเหมาะสมและเน้นความปลอดภัยของผู้ป่วย แพทย์ พยาบาล รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานทุกฝ่าย ที่สำคัญคือใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ต้องลดปริมาณขยะ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด
 
เหนือสิ่งอื่นใด คือการแก้ไขปัญหาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เตรียมพร้อมรับมือกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยวิธีการที่เป็นไปได้แต่ยังคงประสิทธิภาพ นอกจากนี้ต้องมองปัญหาให้ลึกถึงต้นตอ นั่นคือ ปัญหาสุขภาพของคนไทย นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด และช่วยให้เราปรับตัวอยู่กับโรคระบาดในระยะยาวได้
 
การให้ความรู้ประชาชนด้านสุขภาพเชิงลึกจึงเป็นสิ่งสำคัญ หากคนไทยมีความรู้เกี่ยวกับสุขภาพที่ถูกต้อง สามารถดูแลตัวเองได้ ร่างกายก็จะแข็งแรง ลดโรคภัยต่างๆ ที่อาจทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ซึ่งวิธีนี้น่าจะยั่งยืนกว่า ไม่ว่าในอนาคต...โลกจะมีโรคระบาดหรือไม่ก็ตาม
 
ขอบคุณรูปภาพจากสื่อออนไลน์ โรงพยาบาลสนาม ธรรมศาสตร์
www.hospital.tu.ac.th
www.facebook.com/TUFHforCOVID19
 
ติดตามชมวิดีโอบรรยากาศจริงภายใน รพ. สนาม ธรรมศาสตร์ได้ที่
https://www.youtube.com/watch?v=5dV6hZFLVFo
 
ข้อมูลการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม และ Hospitel สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่..
http://www.hsscovid.com/files/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%B5%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%9419.pdf
https://covid19.dms.go.th/backend/Content/Content_File/Covid_Health/Attach/25640111082302AM_Field%20Hospital%20GL_V_5_08012021.pdf
http://www.hsscovid.com/img/helphospitel.pdf