สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กับบทบาทด้านการจัดการสุขภาพเด็ก ในวิกฤติ Covid-19
30 สิงหาคม 2564
กลุ่มวิจัยสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเพื่อสุขภาวะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รับผิดชอบดำเนินงานโดย ผศ. ดร. สรนาถ สินอุไรพันธ์ และคณาจารย์ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีโอกาสร่วมงานกับทางสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ในการออกแบบปรับปรุงพื้นที่หน่วยเลี้ยงและพัฒนาเด็ก
 
กลุ่มวิจัยฯ ได้ส่งมอบแบบให้ทางสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันหน่วยเลี้ยงและพัฒนาเด็กได้ดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ แต่ก่อนที่จะมีการเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในปี 2564 นี้ กลับต้องมาเจอกับสถานการณ์โรคระบาดที่ยากจะควบคุม ทำให้ต้องเลื่อนการใช้งานออกไปก่อน (อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ http://www.builtenviforhealth.info/th/blog-de.php?id=5)


ขอบคุณรูปภาพจาก Facebook : สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
 
เป็นที่เข้าใจได้ว่าสถานการณ์ทางสาธารณสุขในประเทศไทยที่ต้องเผชิญกับ Covid-19 นำมาซึ่งการปรับตัวของโรงพยาบาลเกือบทุกแห่ง เพื่อรับมือกับภาวะวิกฤติให้มีประสิทธิภาพ ทั้งเรื่องของระบบการบริหารจัดการ และการจัดพื้นที่ในทางกายภาพ เช่นเดียวกับสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ให้บริการด้านสุขภาพเด็กโดยเฉพาะ ดังนั้นในช่วงเวลานี้ โรงพยาบาลจึงต้องมุ่งเน้นไปที่การจัดระบบทำงานและขยายพื้นที่รองรับผู้ป่วย Covid-19 ในเด็ก รวมถึงบทบาทหน้าที่อื่นๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มกำลัง
 
กลุ่มวิจัยสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเพื่อสุขภาวะ ได้พูดคุยกับ ผศ.(พิเศษ) พญ.นัยนา ณีศะนันท์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ซึ่งคุณหมอนัยนา เป็นบุคคลสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาหน่วยเลี้ยงและพัฒนาเด็กแห่งใหม่ สำหรับประเด็นที่เราได้พูดคุยกับคุณหมอนั้น ไม่ใช่แค่เรื่องของหน่วยเลี้ยงและพัฒนาเด็ก ที่เตรียมจะเปิดใช้งานในอนาคต แต่ยังเกี่ยวกับประเด็นการบริหารจัดการระบบและพื้นที่ทางกายภาพ เพื่อรองรับผู้ป่วยเด็กในช่วง Covid-19 สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของทางสถาบันฯ ที่ต้องทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยเด็กในหลายๆ ส่วน ทั้งการรักษาในโรงพยาบาล, การทำ Home Isolation และการทำงานด้านจิตอาสาของบุคลากรทางการแพทย์


กับ ผศ.(พิเศษ) พญ.นัยนา ณีศะนันท์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
 
ปรับพื้นที่โรงพยาบาล เพื่อรองรับผู้ป่วย Covid-19 ในเด็ก
 
การปรับเปลี่ยนพื้นที่ในโรงพยาบาล โดยมีการนำเอาห้องพิเศษมาปรับเป็นวอร์ดรองรับผู้ป่วย Covid-19 รวมถึงรองรับกลุ่มผู้ปกครองที่ต้องดูแลเด็กๆ ที่ติดเชื้อ ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
 
“การแพร่ระบาดหนักเริ่มมาในช่วงเดือนเมษายน เราจึงขยายเพิ่มพื้นที่วอร์ดเพื่อรองรับผู้ป่วย Covid-19 โดยบางส่วนจะเป็นห้องแยกโรคติดเชื้อความดันลบ (AIIR) ลักษณะเป็นห้อง Negative pressure ความดันอากาศจะต่ำกว่าบริเวณทางเดิน เราปรับเอาห้องพิเศษมาทำเป็นวอร์ดผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อ Covid-19 นอกจากนี้ก็มีห้อง ICU และห้องที่เตรียมรองรับเคสกึ่ง ICU อีกจำนวนหนึ่ง หากมีเคสที่ต้องผ่าตัดด่วน ก็จะมีห้องผ่าตัดแยกไปอีกห้องหนึ่งค่ะ
 
ตอนนี้ทางโรงพยาบาลกำลังปรับสถานที่โดยเอาห้องพิเศษรวม 4 ห้อง มาทำวอร์ดเพิ่มอีก น่าจะได้อีก 15-20 เตียง และก็ต้องปรับเรื่องระบบอากาศด้วย ต้องปรับให้เป็นห้องความดันลบเช่นกัน เราเน้นให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้อย่างปลอดภัย คาดว่าวอร์ดใหม่น่าจะใช้งานได้เร็วๆ นี้”



การดูแลเด็กที่ติดเชื้อโควิด 19 สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
ขอบคุณภาพจาก Facebook : สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

 
เมื่อ Home Isolation เป็นอีกทางเลือกของการดูแลผู้ป่วย Covid-19
 
แม้จะมีการปรับพื้นที่ในโรงพยาบาลเพื่อทำเป็นวอร์ดผู้ป่วยเพิ่ม แต่สถานการณ์ ณ ช่วงเวลานี้ มีผู้ติดเชื้อ Covid-19 จำนวนมากขึ้น โรงพยาบาลไม่อาจรองรับผู้ป่วยได้ทั้งหมด กระทรวงสาธารณสุขจึงให้มีการทำ Home Isolation
 
“กระบวนการ Home Isolation เกิดขึ้น เพราะกำลังการรักษาและทรัพยากรของระบบสาธารณสุขของประเทศ ไม่เพียงพอ เมื่อไม่พอก็ต้องไปอาศัยประชาชนให้มีส่วนร่วม เกิดเป็น Home Isolation กับ Community Isolation ขึ้นมา
 
สำหรับสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้ช่วยผู้ป่วยในกระบวนการ Home Isolation ด้วยเช่นกัน โดยต้องเป็นเคสเด็กที่มีความเสี่ยงน้อย หรืออาการไม่รุนแรง โดยที่ผู้ปกครองยินยอมและยินดีที่จะทำด้วย ทางทีมแพทย์พยาบาลจะติดตามอาการวันละสองครั้ง เราจะส่งเครื่องมือ เช่น เครื่องวัดออกซิเจน และเทอร์โมมิเตอร์ ไปให้ที่บ้าน ผู้ปกครองก็จะรายงานอาการกลับมา และอาจมีการพูดคุยวิดีโอคอลกัน
 
เราจะส่งอาหารให้ผู้ป่วยวันละ 3 มื้อ ในส่วนนี้เราก็ได้รับเงินสนับสนุนจาก สปสช. ในตอนเริ่มต้นเราทำเป็นอาหารแช่แข็งส่งให้ทีเดียวเลย แต่พอมาทำจริงๆ ก็พบว่าแต่ละครอบครัวมีต้นทุนไม่เท่ากัน บางบ้านไม่มีตู้เย็นหรือไมโครเวฟ พอทำไปได้ประมาณ 5-7 วัน ก็ต้องปรับระบบกันใหม่ ตอนนี้เซ็ตระบบได้แล้ว เราให้ทีม Outsource ไปส่งอาหารให้ที่บ้านทุกวัน รวมถึงส่งนมกล่องและของเล่นแจกให้เด็กๆ ด้วย เราเรียกว่า Happy Bag ซึ่งปกติจะมีคนมาบริจาคให้ทางโรงพยาบาลอยู่แล้ว หากใครสนใจอยากช่วยเหลือเรา ก็ร่วมบริจาคได้ค่ะ”


 
วิธีการเข้าสู่ Home Isolation ของสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี มีกระบวนการอย่างไรบ้าง ?
 
เคส Home Isolation มาจากคนไข้ที่มา SWAB ที่โรงพยาบาลแล้วทราบผลภายใน 24 ชั่วโมง จากนั้นเราจะพิจารณาว่าเด็กคนนี้เสี่ยงมากน้อยแค่ไหน ถ้ามีความเสี่ยงมากก็จะเรียกเข้ามาแอดมิด ถ้าเสี่ยงไม่มากเราก็จะสอบถามผู้ปกครองว่า ยินดีเข้าระบบ Home Isolation ไหม ถ้าเข้าระบบ Home เราก็จะทำการติดตามอย่างต่อเนื่อง
 
ส่วนอีกประเภทหนึ่งคือกลุ่มคนไข้เด็กและผู้ปกครองที่มาแอดมิดในโรงพยาบาล แล้วอาการดีขึ้น แต่สามารถรักษาโดยอยู่ที่บ้านต่อ เราจะให้ทำ Home Isolation โดยต้องถามความยินยอมเขาด้วย หรือกรณีที่แอดมิดแล้ว อาการดีขึ้น แต่โรงพยาบาลเตียงเต็ม ก็ต้องไปอยู่ในระบบ Home เราจะเลือกครอบครัวที่เหมาะสม มีพื้นที่บ้านพร้อม ข้อดีคือถ้าถ้าเด็กอยู่ที่บ้านน่าจะสะดวกสบายกว่า ทั้งเรื่องของทั้งพื้นที่ ความคุ้นเคย อย่างน้อยเด็กก็จะมีพื้นที่ที่ใช้ในการกักตัว รวมถึงการใช้ห้องน้ำ ที่นอนจะดีกว่าในโรงพยาบาล”
 
นอกจากนี้คุณหมอนัยนา ยังได้กล่าวถึงการจัดพื้นที่ภายในบ้านให้เหมาะสำหรับทำ Home Isolation อีกด้วยว่าต้องมี “ห้องแยก” เป็นหัวใจสำคัญ เช่น ห้องนอนและห้องน้ำ ผู้ป่วยต้องไม่ออกมาปะปนอยู่ร่วมกับสมาชิกคนอื่นที่ไม่ติดเชื้อ หากผู้ปกครองจะดูแลเด็กก็ต้องใส่แมสก์ ล้างมือให้สะอาด คอยระมัดระวังตัวเอง หรือในกรณีที่สมาชิกทุกคนในบ้านป่วยหมด สามารถทำ Home Isolation ทั้งบ้านเลยก็ได้ ดังนั้นในหนึ่งบ้านอาจจะมีคนไข้มากกว่าหนึ่งคน สิ่งสำคัญคือผู้ป่วยต้องกักตัวอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง
 
“จริงๆ ระบบ Home Isolation มันก็มีความเสี่ยงอยู่เหมือนกัน ถ้าผู้ป่วยไม่รับผิดชอบตัวเอง โอกาสที่จะไปแพร่เชื้อให้ชุมชนก็มี ถ้ามันไม่มีความเสี่ยง...ระบบนี้คงเอามาใช้ตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว แต่พอมาถึงตอนนี้มันไม่ไหวแล้ว ก็เลยต้องใช้ระบบนี้เข้ามาช่วย
 
นอกจากที่พูดมาทั้งหมด ยังมีอีกส่วนหนึ่งก็คือ Community Isolation ทางโรงพยาบาลเด็กเป็นโรงพยาบาลคู่ขนานกับ ศูนย์พักคอยเกียกกาย ซึ่งรับดูแลเด็กที่มีอายุมากกว่า 8 ปีขึ้นไป ที่ไม่มีผู้ปกครองดูแล แล้วเด็กมีผลตรวจเป็นบวกแต่อยู่ที่บ้านเองไม่ได้ ก็ต้องให้ไปอยู่ที่ศูนย์พักคอย
 
ทางเราได้เข้าไปช่วยเรียงสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย จัดทีมแพทย์รับปรึกษา ดูแลด้านสุขภาพ กรณีที่เด็กมีอาการป่วยหรือต้องให้ยา แพทย์จะประเมินว่า เด็กคนนี้มีอาการเปลี่ยนแปลงอย่างไร จากนั้นเราก็จะจัดยาให้โดยที่เด็กไม่ต้องมาโรงพยาบาล ถ้าอาการป่วยของเด็กเพิ่มมากขึ้น พิจารณาแล้วว่าจำเป็นจะต้องนอนโรงพยาบาล ทางเราก็ส่งต่อเด็กเข้าโรงพยาบาล”
 
นอกจากนี้ทางสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ยังมีการจัดทีมบุคลากรทางการแพทย์ไปเป็นทีมจิตอาสาที่ศูนย์ฉีดวัคซีนบางซื่ออีกด้วย โดยจะมีทีมสลับหมุนเวียนกันไป เพื่อให้ความช่วยเหลือสังคมในยามวิกฤติอย่างเต็มที่
 
การดูแลผู้ป่วย Covid-19 ที่เป็นเด็ก มีความยากง่าย อย่างไรบ้าง ?


ขอบคุณรูปภาพจาก Freefik.com
 
ด้านตัวโรคนี้ในเด็กไม่ได้เป็นปัญหาหลัก เพราะเด็กมักไม่มีอาการหนัก ถึงขั้นที่ต้องใส่ออกซิเจนหรือเครื่องช่วยหายใจเหมือนผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ ยกเว้นเคสที่มีโรคประจำตัว โดยทั่วไปแล้วเด็กมักมีอาการเหมือนเป็นหวัด มีน้ำมูก มีไอ มีไข้ ดังนั้นเรื่องอาการป่วยของกลุ่มเด็ก อาจจะไม่ใช่ปัญหาขนาดนั้น
 
แต่เรื่องที่น่าหนักใจคือเด็กที่ต้องย้ายมาอยู่ในที่ที่เป็นห้องสี่เหลี่ยม เพื่อมากักตัวหรือดูอาการและรับการรักษาต่อเนื่องเป็นเวลา 7-14 วัน เด็กอาจจะเบื่อ งอแงได้ อย่างที่สองคือเด็กต้องแยกจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลหลักที่เป็นคนคุ้นเคย เรามองว่าความยากคือปัจจัยทางด้านสังคมมากกว่าตัวโรค Covid-19”
 
ในอนาคต หาก Covid-19 ยังระบาดอยู่ ทางโรงพยาบาลมีแผนในการรับมือต่อไปในระยะยาวอย่างไร ? 
 
“ตอนนี้หมอว่าคนป่วย เป็นคนไข้กลุ่มเสี่ยง Covid-19 ส่วนกลุ่มเด็กที่ป่วยทั่วไป ทางโรงพยาบาลก็ยังตรวจอยู่ ถ้าเด็กไม่มีอาการป่วยเยอะ ผู้ปกครองก็คงไม่อยากพามาโรงพยาบาลสักเท่าไร แต่โรงพยาบาลก็ยังเปิดให้บริการตามปกติ เด็กที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังที่ต้องมารับยารักษาต่อเนื่องที่โรงพยาบาล ก็ยังเปิดให้บริการเช่นกันแต่จะปรับให้เป็นลักษณะของ Telemedicine และส่งยาไปให้ที่บ้านแทน
 
ในส่วนของเคสผ่าตัดฉุกเฉินต่างๆ ก็ยังทำอยู่ ถ้าเป็นเคสไม่เร่งด่วน ก็ต้องเลื่อนออกไปก่อน ทางห้องแล็ปเองก็ต้องทำงานหนักขึ้น ถ้าเราเปิดรับกลุ่มที่ไม่มีความเสี่ยงมาทำการตรวจเพิ่ม มันก็จะเสียพื้นที่สำหรับคนที่ต้องตรวจหาเชื้อ Covid-19 ไปด้วย ในจุดๆ นี้ มันต้องเรียงลำดับความสำคัญ ชั่งน้ำหนักให้ดี เพื่อลดผลกระทบต่อเคสที่ฉุกเฉินจริงๆ”
 
เตรียมเปิดใช้งานหน่วยเลี้ยงและพัฒนาเด็ก เมื่อสถานการณ์ Covid-19 เริ่มคลี่คลาย
 
หากสถานการณ์ Covid-19 ดีขึ้น ภายหลังที่ประชาชนในประเทศเริ่มได้รับวัคซีนกันมากขึ้น ก็มีแผนที่จะเปิดใช้งาน หน่วยเลี้ยงและพัฒนาเด็ก ที่ทางกลุ่มวิจัยฯ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบ ซึ่งปัจจุบันหน่วยเลี้ยงเด็กได้รับการปรับปรุงแล้วเสร็จสมบูรณ์แล้ว ในมุมมองของคุณหมอและทีมบุคลากรก็รู้สึกพึงพอใจ เพราะพื้นที่นี้เกิดจากกระบวนการมีส่วนร่วมของทีมเจ้าหน้าที่ แพทย์ พยาบาล พี่เลี้ยงเด็ก และตัวแทนผู้ปกครอง พัฒนาไปเป็นแบบผังและสร้างเสร็จจนเห็นเป็นรูปเป็นร่าง ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานได้อย่างตรงจุด
 
“คนที่ได้มาเห็นของจริง ก็มักจะถามว่าจะเปิดใช้งานเมื่อไหร่ ทัศนคติของหลายๆ คนถูกปรับเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น พื้นที่ตรงนี้เห็นได้ชัดว่ามันน่าอยู่และน่าใช้งาน ดีต่อตัวเด็กและคนทำงานแน่นอน ซึ่งในตอนที่ออกแบบก็มีทั้งผู้ปกครอง รวมถึงพี่เลี้ยงเด็กมาช่วยออกความคิดเห็นด้วย เลยได้มุมมองที่หลากหลายยิ่งขึ้น
 
แม้ว่าจะมีพื้นที่จำกัด แต่อยากให้เด็กสามารถเชื่อมโยงกับธรรมชาติได้ เพราะช่วยเรื่องการเรียนรู้ ตอนนั้นก็เลยคุยกับทีมวิจัยฯ ว่าขอเก็บโซน Outdoor ไว้ ส่วนนี้กว้างพอสมควร เพื่อวางพวกต้นไม้กระถาง และทำเป็นมุมที่สามารถทำกิจกรรมกับเด็กๆ ได้ ส่วนด้านในก็จะเน้นเรื่องแสงสว่าง ไม่ให้พื้นที่ทึบเกินไป เน้นการระบายอากาศด้วย พร้อมปรับฟังก์ชันใช้งานบางส่วน เช่น ประตูแบบเปิดอัตโนมัติ ทำให้ใช้งานได้สะดวกสบายมากขึ้น รวมถึงเพิ่มอ่างล้างมือในห้องเลี้ยงเด็กด้วย โดยก่อนหน้านี้จะมีอ่างล้างมือแค่ในห้องน้ำ”
 
จากสถานการณ์การระบบาดของ Covid-19 ต่อเนื่องยาวนาน คุณหมอนัยนาได้ให้ความเห็นว่าต้องมีการป้องกันการติดเชื้อ รักษาความสะอาดอยู่เสมอ หากเปิดใช้งาน หน่วยเลี้ยงและพัฒนาเด็กแล้ว คนที่เข้ามาใช้งานพื้นที่ต้องหมั่นล้างมือ มีการทำความสะอาดพื้นผิวอยู่บ่อยๆ และต้องฉีดวัคซีนกันให้ครบ สิ่งที่ต้องเพิ่มเข้ามาคือการคัดกรองความเสี่ยงของการติดเชื้อ Covid-19 ก่อนเข้ามาใช้บริการ หากพบว่าใครเป็นหวัดหรือเป็นไข้ ก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น


ปัจจุบันพื้นที่บางส่วนในหน่วยเลี้ยงและพัฒนาเด็ก ได้ถูกปรับเป็นพื้นที่ทำงานของอย่างพื้นที่ออฟฟิศของบุคลากร โดยได้ถูกนำมาทำเป็น Home Isolation Ward ของทีมแพทย์และพยาบาลที่ดูแลเรื่อง Home Isolation
 
และแม้ว่าตอนนี้ ทางโรงพยาบาลจะยังไม่ได้เปิดใช้งาน หน่วยเลี้ยงและพัฒนาเด็ก อย่างเต็มรูปแบบ แต่ก็มีการเปิดใช้งานพื้นที่บางส่วนแล้ว อย่างพื้นที่ออฟฟิศของบุคลากร ได้ถูกปรับเปลี่ยนนำมาทำเป็น Home Isolation Ward ทีมแพทย์และพยาบาลที่ดูแลเรื่อง Home Isolation รวมถึงอุปกรณ์ทั้งหมด ย้ายเข้ามาอยู่ในส่วนนี้ก่อน เพื่อความปลอดภัยและสุขอนามัย จากเดิมหน่วยนี้จะอยู่ที่บริเวณหน้าวอร์ดผู้ป่วย ซึ่งมีความเสี่ยงสูง จึงต้องปรับเปลี่ยนสถานที่ให้เหมาะสมไปตามสถานการณ์
 
ทางกลุ่มวิจัยฯ เองก็หวังว่าจะได้เห็นสถานการณ์คลี่คลายโดยเร็ว เพื่อที่ทางสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี จะได้เปิดใช้หน่วยเลี้ยงและพัฒนาเด็ก อย่างเต็มรูปแบบในอนาคตอันใกล้นี้
 
หากต้องการร่วมบริจาคสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย Covid-19 ในเด็ก สามารถร่วมบริจาคสิ่งของต่อไปนี้ ได้แก่
  • นมจืด UHT
  • ทิชชูเปียกผสมแอลกอฮอล์
  • สเปรย์แอลกอฮอล์ ขนาด 60 cc.
  • เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว
  • เทอร์โมมิเตอร์วัดไข้
  • ถุงหรือกระเป๋าผ้า สำหรับใส่อุปกรณ์ให้เด็ก ขนาด A4
 
ได้ที่ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี โทร 1415 หรือ https://www.childrenhospitalfoundation.or.th