ความเข้าใจใน “การรักษาพยาบาล” ร่วมกับการสร้าง “ความเป็นอยู่ที่ดี” ในสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง
11 พฤศจิกายน 2564



#ถอดบทเรียน
จากงาน “20 ปี ภาคีสร้างสุข นวัตกรรมความสุขที่ยั่งยืน” วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 สสส. ได้จัด Session การประชุมในหัวข้อ “การปรับสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะ”
 
ผศ. ดร. สรนาถ สินอุไรพันธ์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเพื่อสุขภาวะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เป็นตัวแทนร่วมอภิปรายในครั้งนี้ด้วย
 
ประเด็นที่เสวนาคือ ความเข้าใจใน “การรักษาพยาบาล” ร่วมกับการสร้าง “ความเป็นอยู่ที่ดี” ในสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง จากประสบการณ์ของกลุ่มวิจัยฯ ในการทำงานร่วมกับโรงพยาบาลรัฐ ภายใต้โครงการต่างๆ จากการสนับสนุนของ สสส. อาทิเช่น โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จำนวน 10 แห่ง และโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช จำนวน 21 แห่ง รวมไปถึงโรงพยาบาลชุมชนอื่นๆ อีกหลายแห่งทั่วประเทศ


หลักการสำคัญของ โรงพยาบาลที่ดี ต้องเริ่มต้นด้วย การออกแบบที่ดี สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างการออกแบบ “สิ่งแวดล้อม” และ “ระบบสุขภาพ” ทั้งสองส่วนนี้ต้องพัฒนาควบคู่ไปพร้อมๆ กัน เกื้อหนุนกัน การออกแบบโรงพยาบาลดีจะเอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดีได้ แต่เนื่องจาก“โรงพยาบาลภาครัฐ”ถูกออกแบบภายใต้ข้อจํากัด ด้านนโยบาย งบประมาณ บุคลากร แบบมาตรฐาน ที่อาจไม่ตอบรับกับ บริบท สังคมวัฒนธรรมที่แตกต่าง รวมถึง ความต้องการเฉพาะและ ความท้าทายในอนาคต
 
ดังนั้นกลุ่มวิจัยฯ จึงได้ตั้งเป้าหมายเริ่มต้นที่โรงพยาบาลภาครัฐเป็นหลัก ได้แก่ โรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลแม่ข่าย (ระดับ F และ M) ปัญหาที่พบคือความแออัดในส่วนต่างๆ เช่น แผนกผู้ป่วยนอก (OPD) และแผนกอุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน (ER) ถือเป็นพื้นที่ให้บริการด่านหน้า มีข้อจํากัด ด้านขนาดพื้นที่และการขยายตัว รวมไปถึงแผนกผู้ป่วยใน (IPD) บางโรงพยาบาลไม่มีที่นอนให้ญาติอย่างเป็นกิจจะลักษณะ เป็นต้น

 
ดังนั้น “ผังแม่บท โรงพยาบาล” จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม บางครั้งถูกละเลยไปแต่กลับมีความสําคัญในการใช้ชีวิตของผู้คนทางกลุ่มวิจัยฯเล็งเห็นว่า องค์ความรู้ด้านการออกแบบสิ่งแวดล้อมเพื่อสุขภาวะและการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนในพื้นที่ สามารถช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวได้
 
นอกจากนี้ “พื้นที่สนับสนุนการใช้ชีวิต” เช่น พื้นที่ทำกิจกรรม พื้นที่พักคอย พื้นที่นันทนาการต่างๆ ในโรงพยาบาล ก็เป็นอีกตัวแปรสําคัญในการสร้างระบบนิเวศที่ดี เชื่อมโยงทั้งโรงพยาบาล คน ชุมชน สิ่งแวดล้อม ให้เอื้อต่อการสร้างสุขภาวะร่วมกับระบบการให้บริการ สุขภาพที่เข้าถึงได้

 
ทางทีมกลุ่มวิจัยฯ ได้ทำงานร่วมกับโรงพยาบาลผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม โดยลงพื้นที่ไปทำกิจกรรมร่วมกับบุคลากรในโรงพยาบาล ตัวแทนของชุมชน รวมถึงผู้ป่วยและญาติที่มาใช้บริการจริง ทำให้ทราบปัญหาและความต้องการที่แท้จริง นำไปสู่การพัฒนาแบบผังที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างตรงจุด ท่ามกลางบริบททั้งทางสังคมและวัฒนธรรมเฉพาะตัวของแต่ละพื้นที่ นำไปสู่การจัดบริการสุขภาพที่แตกต่างกันด้วย

 
จากการออกแบบพื้นที่สุขภาวะโรงพยาบาลด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทุกระดับ และใช้ระยะเวลาพูดคุยทำความเข้าใจ นำไปสู่แบบโรงพยาบาลที่ตรงกับความต้องการของทุกฝ่ายมากที่สุด คนในพื้นที่เกิดความรู้สึกภูมิใจ มีความเป็นเจ้าของร่วม สร้างความรู้สึกว่า โรงพยาบาลที่เป็นมากกว่าโรงพยาบาล
 
สำหรับในช่วง COVID-19 โรงพยาบาลในพื้นที่ปฏิบัติการ 30 แห่ง ได้ปรับพื้นที่สุขภาวะเป็น ห้องที่ใช้รองรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ COVID-19 หรือเชื้อที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรค (Cohort ward) หรือสถานที่ฉีดวัคซีน สะท้อนว่าพื้นที่สุขภาวะในโรงพยาบาลภายใต้โครงการมีความยืดหยุ่น สามารถรองรับสถานการณ์เฉพาะถิ่น เฉพาะหน้าได้เป็นอย่างดี
 
โรงพยาบาลที่ดีเริ่มต้นด้วยการออกแบบที่ดี นอกเหนือจากเชิงกายภาพหรือภูมิทัศน์ ต้องคำนึงถึงการให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยด้วย ควบคู่กับการปรับสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม ทำให้ผู้ป่วยและญาติมีความสุข แพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่มีความสุขในการทำงานเช่นกัน ช่วยเกื้อหนุนการรักษาพยาบาลโดยเฉพาะด้านการฟื้นฟูเยียวยาในทุกมิติอย่างเป็นองค์รวมและส่งเสริมระบบบริการสุขภาพ
 
เพราะโรงพยาบาลมีความเกี่ยวข้องกับผู้คนในทุกช่วงชีวิตไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล บุคลากรในโรงพยาบาล ผู้ป่วยและญาติ ดังนั้นนักออกแบบโรงพยาบาลต้องมีความเข้าใจธรรมชาติของระบบบริการสุขภาพ มีความเข้าใจในการรักษาพยาบาลร่วมกับการสร้างความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งการสร้างความเข้าใจนี้สามารถเติมเต็มได้ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมอันเป็นเครื่องมือสำคัญในกาทำงานของกลุ่มวิจัยสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
 
กลุ่มวิจัยฯ ขอขอบคุณกลุ่มภาคีสถาปนิก และโรงพยาบาลทุกแห่งที่ได้ร่วมงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันด้วยค่ะ
และขอบคุณข้อมูลจากผู้จดบันทึกรายงานจาก สสส.