พื้นที่พักคอย สำคัญอย่างไรต่อโรงพยาบาล
19 ธันวาคม 2564


โรงพยาบาล สถานที่รักษาเยียวยาผู้ป่วย ไม่เพียงแต่จะมีพื้นที่อาคารที่ไว้ใช้ตรวจหรือปฏิบัติการของแพทย์ พยาบาล หรือให้เจ้าหน้าที่ทำงานเท่านั้น แต่ควรมีพื้นที่ไว้รองรับผู้ป่วยและญาติที่เพียงพอ พร้อมทั้งสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างหลากหลายมิติด้วย
.
“พื้นที่พักคอย” พื้นที่ส่วนหนึ่งในโรงพยาบาล ซึ่งมีความสำคัญอย่างมาก ไว้สำหรับรองรับผู้ป่วยและญาติที่มาใช้บริการ แต่บ่อยครั้งกลับถูกมองข้ามไปและไม่ได้รับการพัฒนาให้ดีเท่าที่ควร
.
โครงการเฉลิมราชย์ราชา จิตอาสาพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั่วไทย โดยมูลนิธิ SCG ร่วมกับกลุ่มวิจัยสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเพื่อสุขภาวะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยและสถาปนิก ได้ก่อสร้างพื้นที่พักคอยในโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 21 แก่งทั่วประเทศ
.
จากการเล็งเห็นถึงความสำคัญของพื้นที่พักคอย ในฐานะพื้นที่แห่งความสุขที่จะช่วยอำนวยความสะดวกสบายแก่ผู้มาใช้บริการ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ สามารถเข้ามาใช้งานได้หลากหลายฟังก์ชันยิ่งขึ้น สอดคล้องไปกับความต้องการและวิถีชุมชนของแต่ละแห่ง จึงเป็นที่มาของการพัฒนาโครงการนี้ กระทั่งสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
.
กลุ่มวิจัยสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเพื่อสุขภาวะ ได้รวบรวมพื้นที่พักคอยในโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั้ง 21 แห่งทั่วประเทศ ที่ได้จากกระบวนการมีส่วนร่วมของบุคลากรในโรงพยาบาลและตัวแทนชุมชน ผ่านการออกแบบของภาคีสถาปนิก และได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิ SCG
.
พื้นที่พักคอยเหล่านี้ ขึ้นชื่อว่าเป็น “พื้นที่แห่งความสุข” ซึ่งตอบโจทย์การเป็นพื้นที่เพื่อการเรียนรู้, พื้นที่เพื่อการเยียวยา และพื้นที่เอื้อต่อการใช้ชีวิต หลอมรวมกันเป็นสุขภาวะที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลผ่านสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง โดยได้นำเนื้อหาแนวคิดสรุปของพื้นที่พักคอยแต่ละแห่ง มาจากหนังสือ 21 พื้นที่แห่งความสุข โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั่วไทย โดยมูลนิธิ SCG มีรายละเอียดดังนี้
.
1.) ข่วงฮ่วมใจ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ จังหวัดเชียงราย : ข่วงฮ่วมใจ ได้รับการออกแบบให้มีความสมดุล เรียบง่าย ทว่างดงาม ตามหัวใจหลักในการออกแบบของใจบ้านสตูดิโอ อีกทั้งเชื่อมโยงธรรมชาติเข้าสู่ผู้คนโดยได้เพิ่มพื้นที่สีเขียวขจีให้ความร่มรื่น ร่มเย็น และบรรยากาศผ่อนคลาย ด้วยการออกแบบให้เป็นสวนอเนกประสงค์ สามารถนั่งพักผ่อนหย่อนใจใต้ร่มไม้ได้อย่างเพลิดเพลิน
.
2.) ร่มไม้สา โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเด่นชัย จังหวัดแพร่ : ร่มไม้สา เป็นที่พักคอยซึ่งออกแบบและก่อสร้างได้อย่างสวยงาม ทั้งยังเป็นตัวอย่างโครงการที่ดี มีการประชุมเรื่องแนวคิดการพัฒนาภูมิทัศน์ระหว่างผู้บริหารโรงพยาบาลเจ้าหน้าที่สถาปนิก ทีมงาน คนไข้ รวมถึงคนในชุมชนว่าอยากพัฒนาพื้นที่ตรงไหนให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกัน วัสดุที่ใช้มีคุณภาพ และที่สำคัญที่สุดคือความปลอดภัย
.
3.) ระเบียงสุขใจ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชตะพานหิน จังหวัดพิจิตร : ระเบียงสุขใจ ออกแบบให้สอดคล้องกับระเบียงบ้านที่คุ้นเคย ทว่ามีความโดดเด่นเฉพาะตัว หลุดจากความจำเจด้วยเหลี่ยมมุมของผนัง ซึ่งสถาปนิกออกแบบขึ้นจากข้อมูลที่ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ และชาวตะพานหิน ซึ่งเป็นผู้เดินทางมารับบริการอยู่เป็นประจำ
.
4.) ชานสุขใจ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชนครไทย จังหวัดพิษณุโลก : ชานสุขใจ ออกแบบสอดรับกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมท้องถิ่นของชุมชน โดยเป็นพื้นที่กึ่งปิด เปิดระหว่าง ส่วนพักคอยสำหรับญาติด้านใน และส่วนบริการภายนอกอาคาร อากาศถ่ายเทสะดวก เพิ่มลูกเล่นการออกแบบให้โดดเด่นด้วยชานลอยตัวขนาดใหญ่ ช่วยสร้างมิติให้กับพื้นที่
.
5.) ระเบียงกาด โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว จังหวัดน่าน : ระเบียงกาด ออกแบบโดยคำนึงถึงการเพิ่มพื้นที่ใช้สอยสำหรับนั่งพักผ่อน และรับประทานอาหารเป็นหลัก อีกทั้งสร้างสภาพแวดล้อมบริเวณตลาดให้ถูกสุขลักษณะยิ่งขึ้น
.
6.) อาคารเติมสุข โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ : อาคารเติมสุข โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นอาคารที่สร้างมาจากกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน นอกจากปรับโฉมให้อาคารออกมาสวยงามแล้ว ยังเป็นพื้นที่รองรับผู้ป่วย ญาติและผู้ใช้บริการทุกกลุ่มได้อย่างทั่วถึง
.
7.) ลานใจจอมบึง โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจอมบึง จังหวัดราชบุรี : รูปแบบโครงสร้างของลานใจจอมบึง มีความเรียบง่าย แต่โดดเด่นเรื่องฟังก์ชันการใช้งาน เน้นความร่มรื่นรับลมเย็นจากธรรมชาติโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยเครื่องปรับอากาศ
.
8.) ศาลาปันสุข โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว : ศาลาปันสุข เปรียบเสมือนได้แอบอิงใต้เงาของร่มไม้ ซึ่งเป็นร่มไม้ที่เกิดจากงานสถาปัตยกรรมที่สัมพันธ์กับบริบทที่อยู่รายล้อม โดยยังคงต้นไม้ไว้ในพื้นที่เดิม สร้างความกลมกลื นส่งเสริมให้เป็นส่วนหนึ่งของกันและกันได้อย่างลงตัว
.
9.) เฮือนสุขใจ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกระนวน จังหวัดขอนแก่น : เฮือนสุขใจ ถูกสร้างขึ้นด้วยแนวคิดการนำระดับของพื้น ซึ่งมีความต่อเนื่องการในด้านสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ตั้งแต่ทางเข้าอาคารพื้นที่รองรับแขกไปจนถึงพื้นที่พักผ่อนส่วนตัวของครอบครัว มาขมวดรวมในการออกแบบพื้นที่พักคอยสำหรับผู้ป่วยและญาติทุกกลุ่มวัย ที่ติดตามมากับผู้ป่วยทั้งในแผนก OPD และ IPD ให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่
.
10.) ศาลากุฉินารายณ์ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชศาลากุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ : ศาลากุฉินารายณ์ ไม่เพียงแต่เป็นไปตามจุดมุ่งหมายของการรองรับผู้เข้าใช้บริการที่มีจำนวนมากจนพื้นที่เดิมไม่เพียงพอ แต่ยังตอบสนองความต้องการด้านต่างๆ ซึ่งฉายภาพต้นทุนทางวัฒนธรรมที่เข้มแข็งของคนท้องถิ่น โดยมีฉันทามติตรงกันว่าอยากให้ศาลาที่พักคอยมีพื้นที่สำหรับเป่าแคน แสดงการละเล่นพื้นบ้านตามวิถีของชาวอีสาน เพื่อสืบสานวัฒนธรรมอีสานอย่างเข้มแข็งและเข้มข้น
.
11.) เพาะกล้าตาโขน โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จังหวัดเลย : ผลลัพธ์ที่ได้คือการพัฒนาพื้นที่และเครื่องเล่นภายในสวนสาธารณะ สำหรับประชาชนที่อยู่ติดบริเวณด้านนอกโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย ให้กลายเป็นอาคารเพาะกล้าตาโขน สนามเด็กเล่นที่จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการและทักษะด้านต่างๆให้แก่เด็กๆ ซึ่งสอดคล้องกับโครงการของโรงพยาบาลที่สนับสนุนเรื่องแม่และเด็ก รวมทั้งสัมพันธภาพอันดีภายในครอบครัว
.
12.) เดิ่นบ้าน โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี : เดิ่นบ้าน ได้รับการออกแบบโดยมุ่งเน้นไปที่พื้นที่ใช้สอยที่รองรับกิจกรรมต่างๆได้อย่างยืดหยุ่น เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยญาติ บุคลากรทางการแพทย์ และชุมชนอย่างสูงสุด
.
13.) โฮงโฮมสุข โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย : โฮงโฮมสุข ได้รับการออกแบบโดยหยิบองค์ประกอบเด่น เช่น ลูกกรงราวระเบียง บานประตู และช่องระบายอากาศเหนือประตูของห้องแถวไม้ และห้องแถวผสมคอนกรีต ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมทรงคุณค่าจากย่านเมืองเก่าถ้าบ่อ มาประยุกต์เพื่อสะท้อนอัตลักษณ์ท้องถิ่นให้เกิดความร่วมสมัยยิ่งขึ้น
.
14.) ศาลาสุขใจ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม จังหวัดนครพนม : ศาลาสุขใจ เริ่มต้นด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมจากชาวบ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม) และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ซึ่งมาล้อมวงสนทนาระดมไอเดียกันในกลุ่มย่อย ก่อนนำแนวคิดมาผสมผสานจนได้แบบสเก็ตเบื้องต้นที่เรียบง่าย ตรงไปตรงมา โดยมีประเด็นที่สอดคล้องกัน คืออยากให้ที่พักคอยของโรงพยาบาลมีลักษณะเป็นอาคารขนาดใหญ่ มีแคร่อยู่ตรงกลางให้นั่งเอกเขนก ดั่งเช่นวิถีชีวิตที่คุณเคย
.
15.) เรือนสุขใจ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี : เรือนสุขใจ โดดเด่นเป็นพิเศษด้วยการนำเทคโนโลยี BIM หรือ Building information modeling โมเดล 3 มิติที่สามารถวางแผนการก่อสร้างได้เสมือนจริงและแม่นยำ เข้ามามีบทบาทสำคัญซึ่งช่วยประหยัดเวลาและวัสดุ
.
16.) ศาลาเลิงนกทา โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเลิงนกทา จังหวัดยโสธร : ศาลาโปร่งรูปทรงสะดุดตา แทรกตัวอยู่ระหว่างแนวต้นไม้รูปตัดทางสถาปัตยกรรม 3 แฉก คล้ายนก 3 ตัวเกาะกัน หลังคาเสมือนปีกที่กำลังกางขึ้นลง มีปล่องสูงบนหน้าจั่ว ดูโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ นี่คือภาพของศาลาเลิงนกทาที่สถาปนิกตั้งใจสื่อสัญลักษณ์อิงไปกับชื่อบ้านนามเมืองของอำเภอเลิงนกทา ที่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชื่อโรงพยาบาลได้อย่างกลมกลืน
.
17.) เฮือนโฮมสุข โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร : อาคารไม้หน้าจั่วชั้นเดียว ด้านหน้ามีเพลิงขนาดพอเหมาะ คือหนึ่งในรูปแบบหลักของสถาปัตยกรรมเรือนพื้นถิ่น อันเป็นอัตลักษณ์ของเมืองสกลนคร ที่นำมาประยุกต์ใช้ในการก่อสร้างอาคารที่พักคอยสำหรับผู้ป่วยและญาติ ในนามเฮือนโฮมสุข ที่หลอมรวมความสุขในคุณภาพชีวิตที่ดีจากการรับบริการทางการแพทย์
.
18.) หลาร่มใจ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช : หลาร่ม ใจออกแบบภายใต้แนวคิดการเลื่อนไหลของผู้ป่วยและญาติ โดยสร้างความเชื่อมต่อระหว่างอาคาร OPD สู่อาคารพัก เฟส 1 ได้อย่างสะดวกสบาย พร้อมทั้งพื้นที่นั่งพักตลอดแนวทางเดิน ที่มีหลังคาคลุมกันแดดกันฝนเป็นอย่างดี
.
19.) เรือนอุ่นใจศรีญาฮา โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา จังหวัดยะลา : กระบวนการการมีส่วนร่วมของสังคมพหุวัฒนธรรม เป็นหัวใจสำคัญอย่างยิ่งในการออกแบบที่พักคอย ซึ่งมูลนิธิ SCG และทีมสถาปนิกมุสลิมเพื่อชุมชน มีความมุ่งมั่นตั้งใจเพื่อให้ที่พักคอยเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ใช้บริการ
.
20.) ลานสุขใจ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี : ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยอย่างดี BIM หรือ Building Information Modeling เข้ามาช่วยในการออกแบบก่อสร้าง รวมแบบรวมสถาปัตยกรรมโครงสร้างและงานระบบเข้าด้วยกัน เพื่อทำให้การวางแผนออกแบบก่อสร้างอาคารเป็นไปอย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพสูงสุดตั้งแต่เริ่มต้น
.
21.) โรงอิ่มใจ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี จังหวัดปัตตานี : โรงอิ่มใจ ไม่ใช่แค่พื้นที่ของโรงอาหาร แต่ยังเป็นพื้นที่ที่มีชีวิตที่สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้บริการและฟื้นฟูชุมชนให้ดีขึ้นได้ไปพร้อมกัน ผ่านการใช้งานพื้นที่ทำกิจกรรมต่างๆ
.
เหนือสิ่งอื่นใดต้องขอขบคุณมูลนิธิ SCG และเครือข่ายภาคสถาปนิก รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมมือกันขับเคลื่อนสรรค์สร้าง “พื้นที่พักคอย” ให้กลายเป็น “พื้นที่แห่งความสุข” ภายใต้โครงการเฉลิมราชย์ราชา จิตอาสาพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั่วไทย ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงวาระส่งมอบสมบูรณ์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา
 
ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ 21 พื้นที่แห่งความสุข โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั่วไทย โดยมูลนิธิ SCG
 
#BEresearchunit #สิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเพื่อสุขภาวะ #มูลนิธิSCG #พื้นที่พักคอย