จากจินตนาการสู่แรงบันดาลใจ โครงการออกแบบหน่วยเลี้ยงและพัฒนาเด็ก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
29 พฤษภาคม 2564


พื้นที่แห่งการเสริมสร้างสุขภาวะ ปรากฏให้เห็นในหน่วยเลี้ยงและพัฒนาเด็ก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ที่นี่เป็นสถานที่รับเลี้ยงเด็กช่วงเวลากลางวันของกลุ่มบุคลากรในโรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งได้รับการปรับปรุงและพัฒนาต่อยอดให้กลายเป็น Nursery “ต้นแบบ” ที่มีการออกแบบอย่างมีสุขภาวะและได้มาตรฐาน พาร์ทเนอร์ในส่วนของงานออกแบบคือหน่วยวิจัยสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเพื่อสุขภาวะ (BE4H) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ได้ร่วมสรรค์สร้างพื้นที่ตัวอย่างแห่งการเติบโตและและเรียนรู้ของเด็กๆไปพร้อมๆกัน
 
แต่เดิมนั้นหน่วยเลี้ยงและพัฒนาเด็ก ได้ก่อตั้งและเปิดให้บริการมาแล้วหลายปี ดังนั้นสภาพพื้นที่และบรรยากาศจึงค่อนข้างทรุดโทรมไปตามกาลเวลา รวมถึงฟังก์ชันการใช้งานยังไม่ตอบโจทย์เต็มที่ จึงเป็นที่มาของโครงการออกแบบปรับปรุงพื้นที่ภายในหน่วยเลี้ยงและพัฒนาเด็ก โดยกลุ่มวิจัย BE4H วัตถุประสงค์เพื่อทำให้หน่วยเลี้ยงเด็กแห่งนี้มีมาตรฐานตามหลักสุขภาวะ บนพื้นที่กว้างขึ้นและเป็นสัดส่วนเหมาะสม พร้อมช่วยให้บุคลากรสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ


“การมีส่วนร่วมของคนใช้งานจริง เป็นหัวใจสำคัญของการออกแบบ” คณินณัฎฐ์ โอฬารวงศ์สกุล หรือบอม สถาปนิกผู้ออกแบบโครงการฯ ได้พูดถึงที่มาที่ไปของการออกแบบของหน่วยเลี้ยงและพัฒนาเด็กแห่งนี้ ซึ่งกว่าจะออกมาเป็นพื้นที่แต่ละส่วนได้นั้นต้องผ่านกิจกรรมการมีส่วนร่วมของบุคลากรที่ทำงานในหน่วยเลี้ยงเด็ก รวมถึงกลุ่มผู้ปกครองด้วย กลุ่มวิจัยฯจึงได้จัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมเพื่อสอบถามความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนของการออกแบบและนำเสนอแบบอีก 2 ครั้ง เพื่อให้ตรงกับความต้องการและมีความเหมาะสมมากที่สุด

“แบบแปลนหน่วยเลี้ยงและพัฒนาเด็ก ประกอบไปด้วยฟังก์ชันหลายส่วน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ลานกิจกรรมกลางมากถึง 75 ตารางเมตร เน้นการออกแบบให้มีลักษณะเป็นเส้นสาย โค้งเว้า ให้ความรู้สึกโอบล้อมเด็กๆ ได้ฟีลอบอุ่นและปลอดภัย นอกจากนั้นก็มีฟังก์ชันห้องเด็กเล็ก ห้องเด็กโต ห้องนมแม่และพื้นที่อื่นๆ รวมกว่า 412 ตารางเมตร”




 
นอกจากนี้พื้นที่หน่วยเลี้ยงและพัฒนาเด็ก ยังมีการออกแบบโดยคำนึงถึงสุขภาวะด้านต่างๆ เช่น ออกแบบให้แสงสว่างเข้ามาได้อย่างเพียงพอ อากาศถ่ายเทสะดวก คำนึงถึงการใช้งานจริงที่เหมาะสม อย่างระยะการใช้งาน การใช้วัสดุที่มีความปลอดภัย เสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี และสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการทำงานด้วย ในส่วนของการตกแต่งยังเน้นใช้สีแบบ Dream Tone ซึ่งเป็นโทนสีที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากความฝันหรือจินตนาการของเด็กๆ ให้ความอบอุ่น สดใส และกระตือรือร้น พร้อมเสริมสร้างการเรียนรู้ใหม่ๆ










 
ปัจจุบันหน่วยเลี้ยงและพัฒนาเด็ก Day Care กำลังอยู่ในขั้นตอนของการก่อสร้าง เรียกได้ว่ามีความคืบหน้าอย่างมาก ทั้งนี้คณะทีมทำงานผู้ออกแบบสถาปนิกยังกล่าวอีกว่า “การพัฒนาหน่วยเลี้ยงและพัฒนาเด็กแห่งนี้ มีวัตถุประสงค์ไปไกลกว่านั้น นั่นคือการเป็นพื้นที่ต้นแบบของการออกแบบด้านสุขภาวะ ทีให้ทั้งการเรียนรู้เยียวยา และเอื้อต่อการชีวิต พร้อมส่งต่อองค์ความรู้ด้านการออกแบบต่อไปได้อย่างเป็นวงกว้างได้ต่อไป"