โครงการออกแบบและพัฒนาสิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลเสาไห้เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จังหวัดสระบุรี
2559-2561
โรงพยาบาลเสาไห้เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา เป็นโรงพยาบาลชุมชนที่ตั้งอยู่ใกล้เขตเมืองที่มีจุดเด่นด้านการบริการแพทย์ทางเลือกและการผลิตน้ำดื่ม และสมุนไพรต่างๆจำหน่ายในโรงพยาบาลอีกด้วย ด้วยการให้บริการทางสุขภาพที่ค่อนข้างเฉพาะจึงมีผู้มาใช้บริการรักษาจำนวนมาก เกิดการต่อเติมพื้นที่ทำให้ผังภายในโรงพยาบาลค่อนข้างแน่น ในกิจกรรมการออกแบบวางผังร่วมกันมีการวิเคราะห์การใช้งานและหารือเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาโรงพยาบาลในอนาคตที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล หน่วยงานท้องถิ่นและชุมชนต้องการ รวมถึงการลงพื้นที่ชุมชนไทยวนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะตัว ในกระบวนการออกแบบยังมีการสร้างหุ่นจำลองของผังโรงพยาบาลในฝันร่วมกันระหว่างสถาปนิกและผู้ใช้สอยโรงพยาบาล โดยการทำงานออกแบบกลุ่มย่อยทำให้เกิดผังพัฒนาพื้นที่สามรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยแต่ละกลุ่มนำเสนอและแลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อหารือร่วมกันถึงรูปแบบการวางผังโรงพยาบาลที่ตอบสนองความต้องการของทุกคนได้ดีที่สุด และทีมสถาปนิกจึงพัฒนารูปแบบต่อจากแนวคิดที่สรุปร่วมกัน โดยมีความเห็นร่วมกันว่าในอนาคตโรงพยาบาลควรขยายตัวทางตั้ง การจัดกลุ่มพื้นที่ฝ่ายสนับสนุนใหม่ เพื่อเอื้อให้เกิดพื้นที่ภายนอกอาคารที่เชื่อมต่อกันเพิ่มมากขึ้นและสามารถใช้ประโยชน์เพื่อการพักผ่อนของเจ้าหน้าที่และผู้มาใช้บริการที่โรงพยาบาลได้ ส่วนอาคารสืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนั้นต้องการให้เป็นส่วนของการบริการปฐมภูมิ และพื้นที่แนะนำเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพชุมชน โดยเลือกให้ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของโรงพยาบาล

การออกแบบอาคารใช้แนวคิดของพื้นที่ “ชาน” ในบ้านไทยวนกับ “ลาน” ในรูปแบบของพื้นที่สาธารณะ เป็นแนวความคิดหลักของการออกแบบอาคารสืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชของโรงพยาบาลเสาไห้เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา โดยเป็นการผสมผสานรูปแบบและการใช้งานของพื้นที่ทั้ง 2 แบบเข้าด้วยกัน อาคารแบ่งพื้นที่ให้บริการเป็นสองชั้น ชั้นล่างเป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะสำหรับซึ่งรองรับกิจกรรมชุมชนที่หลากหลายทั้ง การนั่งพักผ่อนระหว่างรอรับบริการหรือรอญาติมารับ การนั่งเสวนาเรื่องสุขภาพที่จัดโดยโรงพยาบาล และที่สำคัญเป็นที่จัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ส่วนลานด้านในใต้ต้นจามจุรีใหญ่เดิมในพื้นที่ใช้เป็นที่จัดแสดงทางวัฒนธรรมของชุมชน  ส่วนชั้นสอง เป็นพื้นที่รองรับการให้บริการของหน่วยแพทย์เวชปฏิบัติ ห้องเอนกประสงค์ที่ทางอาสามสมัครสาธารณสุขและชุมชนเข้าไปใช้ได้ รูปแบบสถาปัตยกรรมภายนอก เป็นอาคารสองชั้นที่อยู่ภายใต้หลังคาจั่วผืนเดียว ที่ว่างภายในถูกออกแบบให้มีความเชื่อมต่อผ่านการจัดเรียงที่วางเหลื่อมสลับกัน เพื่อให้มุมมองและการระบายอากาศต่อเนื่องกัน วัสดุโครงสร้างหลักใช้คอนกรีตเสริมเหล็ก และโครงสร้างเหล็ก ส่วนวัสดุที่ปิดผิวหรือส่วนที่ผู้ใช้งานสัมผัสใช้ไม้ หรือวัสดุทดแทนไม้เพื่อความอบอุ่นและเป็นมิตร การออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมเน้นการออกแบบให้มีความกลมกลืนกับบริบทโดยรอบที่เป็นลานใต้ต้นไม้เดิม และต่อเนื่องกับทางเข้าหลักของโรงพยาบาล